แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล… ในการดำเนินคดีในศาลให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย และในการนี้ให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่าพนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแทนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้ง 4 ราย ในการดำเนินคดีนี้ย่อมได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างปี 2537 ถึงปี 2539 จำเลยโฆษณาขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ในโครงการบ้านอักษรารัตนาธิเบศร์ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 496, 498, 499, 106940 และ 10949 ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ผู้บริโภคจำนวนหลายคนรวมถึงผู้บริโภคทั้ง 4 รายในคดีนี้หลงเชื่อและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2538 นางสาวทิพย์วัลย์ และนางสาวพรทิพย์ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลง F 5 – 60 พร้อมทาวน์เฮาส์ของจำเลยในราคา 1,070,000 บาท และชำระเงินให้แก่จำเลยแล้ว 214,000 บาท เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2538 นายจตุพร ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลง H 8 – 120 พร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยในราคา 1,697,000 บาท และชำระเงินให้แก่จำเลยแล้ว 288,200 บาท เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2538 นายประจวบ ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลง C 3 – 38 พร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยในราคา 997,000 บาท และชำระเงินให้แก่จำเลยแล้ว 199,400 บาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2538 นางสาวสุภาณี ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลง F 6 – 78 พร้อมทาวน์เฮาส์จากจำเลยในราคา 1,070,000 และชำระเงินให้แก่จำเลยแล้ว 214,200 บาท ต่อมาจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้ง 4 รายตามสัญญา ผู้บริโภคทั้ง 4 รายจึงร้องเรียนต่อโจทก์เพื่อให้ดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวทิพย์วัลย์ และนางสาวพรทิพย์ ให้ชำระเงิน 288,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายจตุพร ให้ชำระเงิน 199,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายประจวบ และให้ชำระเงิน 214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสุภาณี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาจะซื้อจะขาย มิใช่เรื่องการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ถึง 7 เป็นเพียงสำเนามิใช่ต้นฉบับ จึงมิอาจรับฟังได้ตามกฎหมาย เอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับอยู่จริง อีกทั้งลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวมิใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงและบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อ ผู้บริโภคทั้ง 4 รายมิได้ทำบันทึกคำร้องเรียนและมอบอำนาจให้โจทก์บอกเลิกสัญญาแทน จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินกับผู้บริโภคทั้ง 4 รายตามฟ้อง ผู้บริโภคทั้ง 4 รายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยจนครบถ้วนตามสัญญา จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กันยายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวทิพย์วัลย์ และนางสาวพรทิพย์ ให้ชำระเงิน 288,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายจตุพร ให้ชำระเงิน 199,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายประจวบ และให้ชำระเงิน 214,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวสุภาณี กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ พนักงานอัยการว่าคดีในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงไม่ใช่กรณีที่จะกำหนดค่าทนายความให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และในคดีนี้มิได้มีการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์มีเพียงสำเนาเอกสารโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดงต่อศาล กรณีจึงมิอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 กำหนดเวลาการก่อสร้างตามเอกสารโฆษณาภายใน 24 เดือนนั้น เป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น มิใช่กำหนดเวลาที่แน่นอน หนังสือบอกกล่าวทวงถามมิชอบ จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาที่เมื่อพิจารณาฎีกาทั้งฉบับแล้วกรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่าง ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา
อนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล… ในการดำเนินคดีในศาลให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วยและในการนี้ให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏว่าพนักงานอัยการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแทนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้ง 4 ราย ในการดำเนินคดีนี้ก็ย่อมได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้น จึงเป็นการมิชอบ เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ