คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9053/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. หมวด 5 เรื่อง ความระงับหนี้ มาตรา 321 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าชำระหนี้ด้วยออก – ด้วยโอน – หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คพื่อชำระหนี้ค่าจ้าง เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการที่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อศาลแขวงธนบุรี ในการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 โจทก์ฟ้องคดีนี้นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 680,822.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 647,052.11 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 680,822.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 647,052.11 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2545 (วันถัดจากวันฟ้อง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า เมื่อต้นปี 2539 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างแก่โจทก์บางส่วน คงเหลือค่าจ้างค้างชำระอีกประมาณ 1,631,332 บาท จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ 7 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,631,332.07 บาท เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คทั้ง 7 ฉบับ ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงธนบุรีในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1732/2540 ของศาลแขวงธนบุรี เอกสารหมาย จ.11 จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2544 หลังจากนั้นก็ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า รายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย จ.11 ไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ แต่เป็นการรับที่จะชำระหนี้ตามเช็คพิพาท จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 5 เรื่อง ความระงับหนี้ มาตรา 321 วรรคสาม บัญญัติว่า ถ้าชำระหนี้ด้วยออก – ด้วยโอน – หรือด้วยสลักหลังตั๋วเงินหรือประทวนสินค้า ท่านว่าหนี้นั้นจะระงับสิ้นไปต่อเมื่อตั๋วเงินหรือประทวนสินค้านั้นได้ใช้เงินแล้ว คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ปักทอตราเสื้อ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 7 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าจ้างดังกล่าว เมื่อถึงกำหนดธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว หนี้ตามสัญญาจ้างทำของจึงยังไม่ระงับสิ้นไป และการที่เช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นเหตุให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ต่อศาลแขวงธนบุรี ในการพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและตกลงผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โดยได้ผ่อนชำระไปแล้วบางส่วนตามที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของนั่นเอง เมื่อได้กระทำภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยทั้งสองไม่ผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์อีก คือวันที่ 12 ตุลาคม 2544 นับถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share