คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัยหลายประเภท โดยมีหนังสือรับรองของสถานกงสุลไทย ณ เมืองบอสตันรับรองความถูกต้องของเอกสารรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ จำเลยไม่ได้นำสืบถึงความไม่ถูกต้องและไม่ได้ฎีกาโต้แย้งเอกสารดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับอนุญาตให้ตั้งสาขาของบริษัทประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยจากทางราชการ
โจทก์ได้แต่งตั้งให้ พ. เป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ในประเทศไทยและมีอำนาจยื่นฟ้องคดีทั้งปวงแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งได้ทำในเมืองต่างประเทศ มี ป. โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานว่าผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจได้สาบานและลงลายมือชื่อต่อหน้าตน และมีใบสำคัญของเลขาธิการแห่งมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์กับจ่าศาลสูงแห่งมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ณมณฑลฮิลส์โบโรห์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องรับรองว่า ป. เป็นโนตารีปับลิกผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แสดงว่า ป. ซึ่งเป็นโนตารีปับลิกมีอำนาจเป็นพยานรับการสาบานและการลงลายมือชื่อดังกล่าวได้ จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่ใช่เอกสารที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจซึ่ง อ. และ จ. ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจในฐานะรองประธานและเลขานุการของโจทก์ ซึ่งบุคคลทั้งสองมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้และได้มอบอำนาจให้ พ. มีอำนาจฟ้องคดีทั้งปวงในประเทศไทยและมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ พ. จึงมีสิทธิมอบอำนาจช่วงให้ ส. ฟ้องคดีทั้งปวงแทนโจทก์ได้แม้โจทก์จะได้ใช้หนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวฟ้องคดีอื่น ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้นำมาใช้ฟ้องคดีนี้อีก เพราะมิใช่หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องเฉพาะคดีในคดีหนึ่งเท่านั้น
ใบตราส่งมีข้อความกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่การขนส่งสินค้าไปยังหรือมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่งให้ใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีคือศาลแห่งกรุงนิวยอร์กดังนั้น เมื่อสินค้าลงเรือแล้วผู้รับขนได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้าและสัญญาว่าผู้รับขนจะขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้รับใบตราส่งในประเทศปลายทาง ใบตราส่งจึงมีลักษณะเป็นหลักฐานแห่งสัญญาในการขนส่งสินค้าอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การยอมรับแล้ว ข้อความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาในใบตราส่ง คือบริษัท บ. ผู้ส่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและจำเลยผู้รับขน ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้รับประกันภัยสินค้าในระหว่างการขนส่งจากผู้รับตราส่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทย โจทก์เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่สัญญาในใบตราส่ง จึงไม่ถูกผูกพันตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี กรณีจึงไม่มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481
คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดและจำนวนหนังโคฟอกย้อมสีที่ได้รับความเสียหายเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจและให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
บริษัท 2 บริษัทที่ประเทศเดนมาร์ก คือ ด. และ อ. ได้ร่วมกันมอบอำนาจให้พ. จดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยในประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเดินเรือ จำเลยจึงเป็นตัวแทนหรือบริษัทสาขาของบริษัทแม่ 2 บริษัทดังกล่าว คนทั่วไปรู้จักจำเลยในชื่อว่าเมอส์กไลน์หรือสายเดินเรือเมอส์กดังนั้นคำว่าเมอร์กไลน์ จึงเป็นชื่อที่ใช้ในทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลของบริษัทแม่ 2 บริษัท ที่ประเทศเดนมาร์กรวมทั้งจำเลยด้วย ในใบตราส่งใช้คำว่า เมอส์กไลน์ที่ข้างกระดาษและลงลายมือชื่อโดยเมอส์กไลน์เอเยนซี่เมืองบอสตัน ในฐานะตัวแทนผู้ขนส่ง แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อจำเลยออกใบตราส่ง แต่ก็ต้องถือว่าใบตราส่งได้ออกโดยสายเดินเรือเมอส์กที่เมืองบอสตัน ซึ่งเป็นตัวแทนสาขาของบริษัทแม่ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์ก
เมื่อเรือ ม. เดินทางมาถึงประเทศไทย จำเลยซึ่งเป็นบริษัทสาขาหรือตัวแทนบริษัทเดินเรือที่ประเทศเดนมาร์กในประเทศไทยได้ยื่นเอกสารขอนำเรือเข้าท่าและขอเช่าเรือลากจูงกับนำหนังสือสัญญาค้ำประกันค่าใช้จ่ายของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย และยื่นเอกสารต่อกองตรวจคนเข้าเมืองตามรายการเกี่ยวกับพาหนะโดยระบุว่าเป็นสายเดินเรือเมอส์ก และเมื่อเรือ ม. เดินทางมาถึงท่าเรือแล้ว จำเลยได้ขออนุญาตต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขอนำเรือเข้าเทียบท่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เข้าโรงพักสินค้า ดังนั้น เมื่อสายเดินเรือเมอส์ก เป็นธุรกิจของบริษัทเดินเรือแม่ในประเทศเดนมาร์กที่จำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยและจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท และสินค้าที่ขนส่งโดยเรือของสายเดินเรือเมอส์กเพื่อส่งให้แก่ผู้รับตราส่งในประเทศไทยเกิดความเสียหายซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบจำเลยจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง จึงไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวหาได้ไม่
สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างขนส่งเพราะเกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 นั้น จำเลยมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์
สินค้าหนังโคฟอกย้อมสีที่จำเลยขนส่งถึงกรุงเทพมหานครมาโดยเรือ ล. และเรือ ม. บางส่วนเปียกน้ำทะเลและขึ้นรา เนื่องจากมีน้ำทะเลเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์การที่น้ำทะเลเข้าดาดฟ้าเรือในขณะเรือแล่นอยู่กลางทะเลย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติของการขนส่งทางทะเล ซึ่งจำเลยผู้ขนส่งทางทะเลย่อมทราบดีถึงภัยทางทะเลดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ต้องเสียหายจากการที่น้ำทะเลไหลเข้าไปในตู้สินค้า จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เปียกน้ำทะเลว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัยได้ ทั้งเหตุพายุหมุนอย่างรุนแรง คลื่นสูง และท้องทะเลปั่นป่วน จำเลยก็มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเป็นเหตุผิดปกติวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาระเช่นจำเลย จึงยังไม่อาจถือเป็นเหตุสุดวิสัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บริษัทช. ผู้เอาประกันภัยสินค้าที่จำเลยขนส่งมา และผู้แทนจำเลยได้พบว่าสินค้าที่จำเลยขนส่งมาเกิดความเสียหายในวันเดียวกับที่จำเลยได้ส่งมอบ แม้จะฟังว่าผู้รับตราส่งได้ชำระค่าระวางเรือแล้ว ก็ไม่อาจฟังได้ว่าผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อน ความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 วรรคหนึ่ง
โจทก์ผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งสินค้า มิได้ฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาประกันภัย จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการรับประกันภัย เป็นหนังสือมาแสดง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 732,053.30 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 46,630.91 บาท

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 732,053.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 46,630.91 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ผู้มีชื่อ 2 คน ในต่างประเทศไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงไม่มีสิทธิมอบอำนาจให้นายพิชัย จุฬาโรจน์มนตรี ฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.10 เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวและได้นำไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลในคดีอื่นแล้วจึงนำมาใช้ในคดีนี้อีกไม่ได้ และศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ได้ทำในเมืองต่างประเทศมีนายแพตรีเซีย เอ.บอนโน โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อรับรองเป็นพยานว่าบุคคลทั้งสองได้สาบานและลงลายมือชื่อต่อหน้าตน และมีใบสำคัญของเลขาธิการแห่งมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์กับจ่าศาลสูงแห่งมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ณ มณฑลฮิลส์โบโรห์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องรับรองว่านายแพตรีเซีย เอ.บอนโน เป็นโนตารีปับลิกผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแสดงว่านายแพตรีเซีย เอ.บอนโน ซึ่งเป็นโนตารีปับลิกมีอำนาจเป็นพยานรับการสาบานและการลงลายมือชื่อดังกล่าวได้ จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจะไม่ใช่เอกสารที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้น ปรากฏว่าในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 หรือ ล.1 ข้อ 5.2 (เอ) และข้อ 25 มีข้อความกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่การขนส่งสินค้าไปยังหรือมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดความเสียหายในระหว่างการขนส่ง ให้ใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีคือศาลแห่งกรุงนิวยอร์ก เห็นว่า เมื่อสินค้าลงเรือแล้วผู้รับขนได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งสินค้าและสัญญาว่า ผู้รับขนจะขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้รับใบตราส่งในประเทศปลายทาง ใบตราส่งจึงมีลักษณะเป็นหลักฐานแห่งสัญญาในการขนส่งสินค้าอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การยอมรับในข้อนี้ ดังนั้น ข้อความดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาในใบตราส่ง คือบริษัทบ็อบแคตเลเธอร์คัมปะนีอิ้งค์ จำกัด ผู้ส่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและจำเลยผู้รับขน ส่วนโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าในระหว่างการขนส่งจากบริษัทซัมมิทซูส์อัปเบอร์ จำกัด ผู้รับตราส่ง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทย โจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่สัญญาในใบตราส่ง จึงไม่ถูกผูกพันตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2533 จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่เลขที่ 231/2 ถนนสาธรใต้แขวงและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี กรณีจึงไม่มีข้อที่จะต้องวินิจฉัยตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ดังที่จำเลยฎีกา

จำเลยฎีกาข้อ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้แสดงรายละเอียดว่า สินค้าหนังโคฟอกชนิดใดเสียหายจำนวนเท่าใด และคิดคำนวณค่าเสียหายของหนังโคฟอกแต่ละชนิดอย่างไร จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าที่ขนส่งทางทะเลคือหนังโคฟอกย้อมสีจำนวน 5,655 แผ่น คำนวณได้ 54,502 ตารางฟุตจากผู้ซื้อในประเทศไทยเป็นเงิน 1,718,272.38 บาท จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกามาส่งให้ผู้ซื้อในประเทศไทย ปรากฏว่าเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย สินค้าบางส่วนคือหนังโคฟอกย้อมสีจำนวนหนึ่งมีสีช็อกโกแลต สีดำ และสีสนิมเปียกน้ำและขึ้นราเสียหายรวมทั้งสิ้น 21,872 ตารางฟุต คิดเป็นเงิน 692,053.30 บาท ในระหว่างการขนส่งของจำเลย และผู้ซื้อได้เสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบสินค้าอีกเป็นเงิน 40,000 บาท โจทก์ได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ซื้อตามสัญญาประกันภัยไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดและจำนวนหนังโคฟอกย้อมสีที่ได้รับความเสียหายเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจและให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

จำเลยฎีกาข้อ 3 ว่า เรือเล็กซ่าเมอส์กและเรือเมอส์กมอนโดที่ขนส่งสินค้าตามฟ้องโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเป็นเรือของจำเลย เรือลำแรกจดทะเบียนเป็นของบริษัทอื่น และผู้ออกใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.12 ไม่ใช่จำเลย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องปัญหาข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าเรือ 2 ลำ ดังกล่าวไม่ใช่เรือของจำเลยดังนั้น ฎีกาประการแรกของจำเลยจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เรือเล็กซ่าเมอส์กเป็นเรือของจำเลยได้ขนส่งสินค้าตามฟ้องจากประเทศสหรัฐอเมริกามาขนถ่ายและบรรทุกลงเรือเมอส์กมอนโดที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์และเรือลำดังกล่าวได้ขนส่งสินค้ามาส่งแก่ผู้รับตราส่งที่ประเทศไทย ส่วนฎีกาประการหลังจำเลยให้การต่อสู้ว่า บริษัทผู้ส่งสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ว่าจ้างบริษัทเมอส์ก สาขากรุงเทพฯ จำกัด หรือเมอส์กสาขากรุงเทพฯ หรือจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยเรือ 2 ลำดังกล่าวและใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 มิได้ใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้ออกให้แก่บริษัทผู้ส่ง จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าไปฝากไว้ที่คลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าดังโจทก์ฟ้อง ข้อนี้พยานหลักฐานโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลในเอกสารหมาย จ.18 (28 แผ่น) ได้ความว่า บริษัทมีชื่อ 2 บริษัท ที่ประเทศเดนมาร์ก คือดัมสกิปส์เซลสกาเบ็ท อาฟ 1912 อักตีเซลสกาป และ อักตีเซลสกาเบ็ท ดัมป์สกิปส์เซลสกาเบ็ทสเว็นด์บอร์ก ได้ร่วมกันมอบอำนาจให้นายพี.เค.มิลเลอร์ จดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยในประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเดินเรือ จำเลยจึงเป็นตัวแทนหรือบริษัทสาขาของบริษัทแม่ 2 บริษัทดังกล่าว นายศราภัย มานิตยกุล พนักงานของจำเลยเบิกความว่า คนทั่วไปรู้จักจำเลยในชื่อว่าเมอส์กไลน์หรือสายเดินเรือเมอส์ก ดังนั้น คำว่า เมอร์กไลน์ จึงเป็นชื่อที่ใช้ในทางธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลของบริษัทแม่ 2 บริษัท ที่ประเทศเดนมาร์ก รวมทั้งจำเลยด้วย ปรากฏในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 หรือ ล.1 ใช้คำว่า เมอส์กไลน์ ที่ข้างกระดาษและลงลายมือชื่อโดยเมอส์กไลน์เอเยนซี่ เมืองบอสตันในฐานะตัวแทนผู้ขนส่งแม้จะไม่ได้ใช้ชื่อจำเลยออกใบตราส่ง แต่ก็ต้องถือว่าใบตราส่งได้ออกโดยสายเดินเรือเมอส์กที่เมืองบอสตันซึ่งเป็นตัวแทนสาขาของบริษัทแม่ดังกล่าวในประเทศเดนมาร์กนอกจากนี้เมื่อเรือเมอส์กมอนโดเดินทางมาถึงประเทศไทย จำเลยซึ่งเป็นบริษัทสาขาหรือตัวแทนบริษัทเดินเรือที่ประเทศเดนมาร์กในประเทศไทยได้ยื่นเอกสารขอนำเรือเข้าท่าและขอเช่าเรือลากจูงกับนำหนังสือสัญญาค้ำประกันค่าใช้จ่ายของธนาคารมาวางเป็นประกันต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 และยื่นเอกสารต่อกองตรวจคนเข้าเมืองตามรายการเกี่ยวกับพาหนะเอกสารหมาย จ.1 โดยระบุว่าเป็นสายเดินเรือเมอส์กและตามสำเนาหนังสือสายเดินเรือเมอส์กสาขากรุงเทพฯ เอกสารหมาย จ.22 เมื่อเรือเมอส์กมอนโดเดินทางมาถึงท่าเรือแล้ว จำเลยได้ขออนุญาตต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยขอนำเรือเข้าเทียบท่าเขื่อนตะวันออกเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เข้าโรงพักสินค้าต่อไป ตามเอกสารดังกล่าวจำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เข้าเก็บรักษาในคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สายเดินเรือเมอส์กเป็นธุรกิจของบริษัทเดินเรือแม่ในประเทศเดนมาร์กที่จำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยและจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท เมื่อสินค้าที่ขนส่งโดยเรือของสายเดินเรือเมอส์กเพื่อส่งให้แก่ผู้รับตราส่งในประเทศไทยเกิดความเสียหายซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชอบ จำเลยจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ออกใบตราส่ง จึงไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวหาได้ไม่

จำเลยฎีกาข้อ 4 ว่า สินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างขนส่งเพราะเกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า สินค้าหนังโคฟอกย้อมสีที่จำเลยขนส่งถึงกรุงเทพมหานครมาโดยเรือเล็กซ่าเมอส์กและเรือเมอส์กมอนโดบางส่วนเปียกน้ำทะเลและขึ้นรา เนื่องจากมีน้ำทะเลเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ จำเลยนำสืบและฎีกาว่า เรือเล็กซ่าเมอส์กได้ประสบภัยพายุหมุนอย่างรุนแรงพัดน้ำทะเลเป็นคลื่นสูง ท้องทะเลปั่นป่วน เรือโคลงหนักน้ำเข้าดาดฟ้าเรือและตู้คอนเทนเนอร์ในระหว่างเดินทางในทะเลจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหาย ดังปรากฏรายละเอียดในรายงานของนายเรือตามบันทึกเหตุสุดวิสัยทางทะเลพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.2 จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดนั้น จำเลยมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ พยานจำเลยคงมีนายศราภัย มานิตยกุลผู้จัดการแผนกชดใช้ค่าเสียหายของบริษัทจำเลยเบิกความประกอบบันทึกรายงานเหตุการณ์เรือประสบภัยของนายเรือต่อสถานกงสุลเดนมาร์กประจำเมืองโยโกโฮม่า ประเทศญี่ปุ่น ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังกล่าว เท่านั้น เห็นว่า การที่น้ำทะเลเข้าดาดฟ้าเรือในขณะเรือแล่นอยู่กลางทะเลย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติของการขนส่งทางทะเล จำเลยผู้ขนส่งทางทะเลย่อมทราบดีถึงภัยทางทะเลดังกล่าว ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของจำเลยว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ต้องเสียหายจากการที่น้ำทะเลไหลเข้าไปในตู้สินค้า จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่เปียกน้ำทะเลว่าเกิดแต่เหตุสุดวิสัยได้ ทั้งเหตุพายุหมุนอย่างรุนแรง คลื่นสูง และท้องทะเลปั่นป่วนตามที่จำเลยฎีกา จำเลยก็มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเป็นเหตุผิดปกติวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาระเช่นจำเลย จึงยังไม่อาจถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้

จำเลยฎีกาข้อ 5 ว่า ความรับผิดของจำเลยย่อมสิ้นสุดลงเพราะผู้รับตราส่งได้รับเอาสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อน และได้ชำระค่าระวางเรือแก่จำเลยแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 ข้อนี้จำเลยให้การว่า จำเลยได้ส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัทซัมมิทซูส์อัปเปอร์ จำกัด ผู้รับตราส่งในวันที่ 20 เมษายน 2532 โดยได้ความจากนายศราภัยมานิตยกุล พยานจำเลยว่า จำเลยได้ออกใบปล่อยสินค้าแก่ผู้รับตราส่งให้มารับสินค้าตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2532 พยานหลักฐานโจทก์ปรากฏตามใบสำรวจความเสียหายเอกสารหมาย จ.25 ว่า บริษัทอินเตอร์แนชชั่นแนลแอดจัสต์เม้นต์ จำกัด ได้สำรวจพบว่าสินค้าบางส่วนเปียกน้ำและขึ้นราได้รับความเสียหายตามคำร้องขอของผู้รับตราส่งในวันที่ 20 เมษายน 2532 โดยนายสุนทร จรัสศิริพงษ์ พนักงานสำรวจความเสียหายของบริษัทดังกล่าวเบิกความว่าผู้แทนผู้ขนส่งได้ร่วมทำการสำรวจด้วย และการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ออกใบสำรวจสินค้ายืนยันว่าได้มีการสำรวจเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 พบว่าสินค้าบางส่วนเปียกน้ำและขึ้นราตามรายการสำรวจสินค้าเอกสารหมาย จ.15 ดังนั้น จึงฟังได้ว่าบริษัทซัมมิทซูส์อัปเปอร์ จำกัด และผู้แทนจำเลยได้พบว่าสินค้าที่จำเลยขนส่งมาเกิดความเสียหายในวันเดียวกับที่จำเลยได้ส่งมอบ แม้จะฟังว่าผู้รับตราส่งได้ชำระค่าระวางเรือแล้ว ก็ไม่อาจฟังได้ว่าผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไว้โดยไม่อิดเอื้อนความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 623 วรรคหนึ่ง

จำเลยฎีกาข้อ 6 ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าตามฟ้อง และไม่ได้รับช่วงสิทธิโดยชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิด ข้อนี้จำเลยให้การว่า กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้รับประกันภัย แต่ฎีกาอ้างว่าผู้จัดการสาขาของโจทก์ใช้ตราประทับแทนการลงลายมือชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.11 โดยไม่มีพยานมาเบิกความรับรองเป็นการไม่ชอบ ไม่ตรงกับที่ให้การต่อสู้ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิจากบริษัทซัมมิทซูส์อัปเปอร์จำกัด ผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่งสินค้า มิได้ฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาประกันภัย จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการรับประกันภัยเป็นหนังสือมาแสดง โจทก์มีนางสุรีย์พร ศุภสิทธิจันทร์ พนักงานของโจทก์ และนายสุชาติ ชัวพันศิริพร พนักงานของบริษัทผู้เอาประกันภัยเบิกความรับรองว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งทางทะเลสินค้าหนังโคฟอกย้อมสีของบริษัทซัมมิทซูส์อัปเปอร์ จำกัดโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าของผู้เอาประกันภัย จำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น พยานบุคคลของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้องโดยไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานเป็นหนังสือ ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยส่วนเรื่องการรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยนั้นโจทก์มีใบรับช่วงสิทธิในความสูญเสียพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.17 กับนางสุรีย์พร นายสุชาติ และนางสาวไพเราะ ติญญนนท์ พนักงานบริษัทอินเตอร์แนชชั่นแนลแอดจัสต์เม้นต์ จำกัด เบิกความประกอบกันฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายของสินค้าที่จำเลยขนส่งแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องเรียกเอาจากจำเลยได้

พิพากษายืน

Share