แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่และวรรคห้า มาตรา 10 ทวิ และมาตรา 28 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้บังคับแก่การเวนคืน ซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย กรณีของโจทก์ทั้งสองนี้โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แล้ว โจทก์ทั้งสองไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทน จึงได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 และเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้ใช้สิทธิฟ้องคดี ขณะที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้นั้นเป็นเวลาภายหลังจากที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มีผลใช้บังคับแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 โดยพิจารณาค่าทดแทนตามมาตรา 18, 21, 22 และ 24 ได้ มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21 (2) หรือ (3) ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์และไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่
บัญชีพยานที่จำเลยขอระบุเพิ่มเติมเป็นพยานหลักฐานที่จะนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือจากการถูกเวนคืนไป เมื่อวันที่30 มีนาคม 2537 โดยจดทะเบียนขายตามราคาประเมินตารางวาละประมาณ2,500 บาท แต่ปรากฏจากฎีกาของจำเลยเองว่าราคาซื้อขายที่ดินดังกล่าว มิใช่ราคาซื้อขายกันจริงตามท้องตลาด ราคาซื้อขายกันจริงอาจสูงกว่าตารางวาละ5,000 บาทมาก ดังนั้น แม้จำเลยนำสืบได้ตามพยานหลักฐานที่ขอระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวก็ไม่เป็นประโยชน์ในการที่นำมาประกอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนให้ต่ำลงกว่าที่ศาลกำหนดได้ จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้จำเลยระบุพยานนั้นเพิ่มเติม
แม้เจ้าหน้าที่ของจำเลยเสนอสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้อัยการจังหวัดขณะอัยการจังหวัดไม่อยู่ก็ต้องมีพนักงานอัยการอื่นที่รักษาราชการแทนและสามารถดำเนินการแทนกันได้ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนับวันของเจ้าหน้าที่รับสำนวนคดีแพ่งประจำสำนักงานอัยการจังหวัดของทนายจำเลยเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลย การที่ทนายจำเลยเพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกซึ่งเลยกำหนดเวลายื่นคำให้การ 1 วัน เพราะเหตุทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น มิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนดเพราะเกิดจากความบกพร่องของฝ่ายจำเลยถือได้ว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การ