คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา5ให้คำนิยามของคำว่านายจ้างในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ2ว่านายจ้างหมายความว่าผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทนในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่าผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้นและหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนเมื่อจำเลยที่2เป็นผู้อำนวยการสำนักงานและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่1ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสองด้วยตามบทกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่2ได้แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากจำเลยที่1ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่2เป็นผู้ทำการแทนตามกฎหมายประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา77บัญญัติว่า”ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคลและระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลม”และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนมาตรา820บัญญัติว่า”ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน”ซึ่งมีความหมายว่ากิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำแทนตัวการจำเลยที่1ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่2ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่1โดยจำเลยที่2ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสองด้วย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันมีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดแจ้งความซึ่งไม่เป็นจริงจึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสองได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธาน แต่จำเลยที่ 3 ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าวยังคงมีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงานจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ทั้งสองสำนวน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 41,160บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 42,440.74 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นของโจทก์ที่ 1 ให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และรับผิดเป็นส่วนตัวแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามบทกฎหมายดังกล่าวให้คำนิยามของคำว่า นายจ้าง ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ว่านายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้ทำการแทนในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล หมายความว่า ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทน ดังนั้น จำเลยที่ 2ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสองด้วยตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ทั้งสองมีฐานะเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนตามกฎหมาย ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล และระหว่างนิติบุคคลหรือผู้แทนของนิติบุคคลกับบุคคลภายนอกโดยอนุโลม” และบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน มาตรา 820บัญญัติว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน” ซึ่งมีความหมายว่า กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำแทนตัวการจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสองด้วย
พิพากษายืน

Share