คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/57 บัญญัติว่า “ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วยแต่มิได้บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว
แม้ช. จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตามแต่เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 2. เจ้าหนี้ไม่มีประกันรายย่อย คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 3. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม คือ ช. และแผนได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่จเานี้ทั้งสี่กลุ่มโดยปรับลดภาระหนี้ดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1.62 ส่วนภาระหนี้เงินต้นจะชำระโดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ มูลค่าหุ้นละ 10 ชำระหนี้อีกส่วนหนึ่ง และจะทยอยชำระหนี้ส่วนที่เหลือด้วยเงินสดภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีดอกเบี้ย ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.2 ถึง 6.4 และเอกสารแนบท้ายหมายเลข 3 ถึง 6 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่าเทียมกัน ช. ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ดังนั้น ช. จึงชอบที่จะออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ โดยโอนหุ้นบริษัท ส. มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัท บ. มูลค่าหุ้นละ 18 บาท และจัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บางส่วน หากหุ้นดังกล่าวมีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นและออกหุ้นกู้ดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งนี้เพราะแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.6 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนองเพื่อชำระเงินต้นค้างชำระตามแผน เจ้าหนี้ตามแผนยังคงมีสิทะในทางจำนองและจำนำเหนือทรัพย์หลักประกันตามสัญญาเดิมและ/หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้เงินต้นค้างชำระตามแผน ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้นตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดที่กำหนดในแผน ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่กำหนดในแผนที่มีต่อเจ้าหนี้แต่ละรายตามสัญญาเดิมยังไม่ระงับไป และหลักประกันเดิมของเจ้าหนี้ประเภทจำนอง จำนำ ค้ำประกันและหลักประกันประเภทอื่นๆ ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ยังคงมีผลผูกพันลูกหนี้ บุคคลภายนอกและเจ้าหนี้” ซึ่งสอดคล้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสองที่บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่เห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/16 บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้” ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 รัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. 2545 แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลมิให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่มีการยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามหลักกฎหมายทั่วไปและความเหมาะสมในกิจการแต่ละรายไปเมื่อพิจารณาเอกสารแนบท้ายแผนฟื้นฟูกิจการหมายเลข 8 ซึ่งระบุชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผนตลอดจนผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแล้ว ผู้ทำแผนมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และให้คำแนะนำหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของผู้อื่น และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารต่างมีความรู้ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินประธานกรรมการและกรรมการในบริษัทต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน จึงน่าเชื่อว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนมีความรู้ ความสามารถและความชำนาญทางด้านการบริหารงานพอสมควรแล้ว แม้ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของลูกหนี้บริหารงานหรือกระทำการทุจริตอันไม่ควารได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารแผน ข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่ว่าผู้บริหารและคณะทำงานของผู้บริหารแผนเป้นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้จึงไม่เหมาะสมที่จะบริหารงานตามแผนต่อไปจึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนไม่อาจปฏิบัติการตามแผนผื้นฟูกิจการให้ประสบผลสำเร็จได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้ง บ.สาริน แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแทน ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผน ขอให้ศาลนัดพิจารณา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้ว
เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันรายย่อย ยื่นคำร้องคัดค้านไม่เห็นชอบด้วยแผนหลายประการ
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายพิจารณาแล้ว เจ้าหนี้อุทธรณ์ประการแรกว่า การที่ศาลล้มละลายกลางงดไต่สวน คำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้ทำให้ไม่ทราบรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนของการชำระหนี้ การขยายเวลา ชำระหนี้ การลดทุน การเพิ่มทุน การก่อหนี้และการระดมทุน แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดทำรายงานสรุปแผนและวิเคราะห์แผนของลูกหนี้เสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาก็ยังไม่เพียงพอนั้น วินิจฉัยว่า ในการพิจารณา แผนฟื้นฟูกิจการของศาล พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/57 บัญญัติว่า “ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจง ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” เห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลพิจารณาข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ด้วย แต่มิได้บังคับว่าศาลจะต้องทำการไต่สวนคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้เสมอไป จึงย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเห็นสมควรเป็นเรื่อง ๆ ไป เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการ คำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของเจ้าหนี้มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดชัดเจนเพียงพอแก่การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย แผนฟื้นฟูกิจการแล้ว การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้งดการไต่สวนจึงชอบแล้ว
เจ้าหนี้อุทธรณ์ประการที่สองว่า นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ เจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 เป็นเจ้าหนี้เงินให้กู้ยืมและเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้และมีฐานะเป็นกรรมการของลูกหนี้จึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีส่วนได้เสียใน แผนร่วมกับลูกหนี้ การที่ให้เจ้าหนี้กลุ่มนี้ออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น วินิจฉัยว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. เจ้าหนี้มีประกันรายใหญ่ คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันการเงิน 2. เจ้าหนี้มีประกันรายย่อย คือ เจ้าหนี้และบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 3. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะเจ้าหนี้ทางการเงิน คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ 4. เจ้าหนี้ไม่มีประกันในฐานะ เจ้าหนี้เงินให้กู้ยืม คือ นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ และแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งสี่กลุ่ม โดยปรับลดภาระหนี้ดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 1.62 ส่วนภาระหนี้ต้นเงินจะชำระโดยโอนหุ้นบริษัทสาริน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ส่วนหนึ่ง จัดสรรหุ้นกู้ไม่มีประกันของลูกหนี้ มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ชำระหนี้อีกส่วนหนึ่ง และจะทยอยชำระหนี้ส่วนที่เหลือด้วยเงินสด ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งถือได้ว่าเจ้าหนี้ทุกรายได้รับการปฏิบัติชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้เท่าเทียมกัน ดังนั้น แม้ชนินทร์ ว่องกุศลกิจ จะมีฐานะเป็นกรรมการลูกหนี้และมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ด้วยก็ตาม แต่นายชนินทร์ในฐานะเจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยทางตรงหรือทางอ้อมนอกจากประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะควรได้รับในฐานะเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นแล้ว นายชนินทร์จึงชอบที่จะออกเสียงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 34 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90/2 วรรคสอง
เจ้าหนี้อุทธรณ์ประการที่สามว่า การแปลงหนี้บางส่วนจำนวน 4,225,000 บาท เป็นหุ้นกู้ไม่มีประกันของ ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด เจ้าหนี้ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องจาก ผู้ค้ำประกันได้อีก และการแปลงหนี้อีกส่วนหนึ่งจำนวน 89,780,000 บาท เป็นหุ้นสามัญของบริษัทสาริน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ทั้งที่ในปัจจุบันหุ้นดังกล่าวไม่มีมูลค่า เจ้าหนี้จะต้องตัดหนี้จำนวนนี้เป็นหนี้สูญ ถือเสมือนหนึ่งว่าเจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้เจ้าหนี้จึงไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้น วินิจฉัยว่า ตามแผน ฟื้นฟูกิจการข้อ 6.4.2 ได้กำหนดสาระสำคัญของหุ้นกู้ไว้ดังนี้ มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 10 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 10 บาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 โดยไม่มีดอกเบี้ย และลูกหนี้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อน วันที่ 31 พฤษภาคม 2540 ในราคาเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ เช่นนี้ ถือได้ว่าการออกหุ้นกู้เป็นการทำนิติกรรมกู้ยืมระยะยาวซึ่งมีหุ้นกู้เป็นตราสารที่ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันว่าจะได้รับชำระเงินกู้คืนตามราคาเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้เมื่อ ครบกำหนดอันเป็นการทำสัญญากู้ยืมใหม่เปลี่ยนแปลงมูลหนี้เดิมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ แต่ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากแผนฟื้นฟูกิจการ ข้อ 6.6 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จำนำเพื่อชำระหนี้ต้นเงินค้างชำระตามแผน เจ้าหนี้ตามแผนยังคงมีสิทธิในทางจำนองและจำนำเหนือทรัพย์หลักประกันตามสัญญาเดิมและ/หรือสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อประกันการชำระหนี้ต้นเงินค้างชำระตามแผนทั้งนี้การดำเนินการตามแผนฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ดังนั้น ตราบใดที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามรายละเอียดที่กำหนดในแผน ภาระหนี้ของลูกหนี้ที่กำหนดในแผนที่มีต่อเจ้าหนี้ แต่ละรายตามสัญญาเดิมยังไม่ระงับไป และหลักประกันเดิมของเจ้าหนี้ประเภทจำนอง จำนำ ค้ำประกันและหลักประกันประเภทอื่น ๆ ของลูกหนี้ (ถ้ามี) ยังมีผลผูกพันลูกหนี้ บุคคลภายนอกและเจ้าหนี้” และยังสอดคล้องตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” ส่วนการที่ลูกหนี้โอนหุ้นของบริษัทสาริน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และหุ้นของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) มูลค่าหุ้นละ 18 บาท ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้กล่าวอ้างว่าหุ้นดังกล่าวไม่มูลค่านั้น เห็นว่า หุ้นย่อมมีมูลค่าในการชำระหนี้ตามราคาซื้อขายกันจริงในท้องตลาด อย่างไรก็ตามหากหุ้นของบริษัทสาริน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด และหุ้นของบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) มีราคา ณ วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการอันจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องผูกพันรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดไปนั้นให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 6.6 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่ลูกหนี้โอนหุ้นชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ก็ดี การออกหุ้นกู้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ก็ดี ไม่ทำให้เจ้าหนี้ต้องตัดหนี้สูญและไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดแต่อย่างใด
เจ้าหนี้อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งเคยบริหารงานของลูกหนี้ประสบความล้มเหลวมาแล้ว หากให้บุคคลกลุ่มนี้เป็นผู้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการย่อมไม่ประสบความสำเร็จนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหนี้อุทธรณ์คัดค้านว่าผู้บริหารแผนไม่มีคุณสมบัติและไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/16 บัญญัติว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนก็ได้” แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ พ.ศ. 2545 แล้วก็ตาม แต่มีบทเฉพาะกาลมิให้ใช้กฎกระทรวงนี้ บังคับแก่บรรดาคดีที่มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ดังนั้นศาลจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารแผนตามหลักกฎหมายทั่วไปและความเหมาะสมในกิจการแต่ละรายไป เมื่อพิจารณาเอกสารแนบท้ายแผนฟื้นฟูกิจการหมายเลข 8 ซึ่งระบุชื่อและคุณสมบัติของบริษัทสาริน แพลนเนอร์ จำกัด ผู้ทำแผน ตลอดจนผู้บริหารแผนและคณะทำงานของ ผู้บริหารแผนแล้ว เห็นว่า ผู้ทำแผนเป็นนิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับเป็นผู้ทำแผน ผู้บริหารแผน และให้คำแนะนำหรือการใด ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูกิจการของผู้อื่น และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารต่างมีความรู้ในระดับปริญญาตรีและบางรายมีความรู้ในระดับปริญญาโททางด้านการเงิน และด้านกฎหมาย ตลอดจนมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ประธานกรรมการ และกรรมการในบริษัทต่าง ๆ หลายแห่งด้วยกัน กรณีจึงน่าเชื่อว่า ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนมีความรู้ ความสามารถ และความชำนาญทางด้านการบริหารงานพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการของลูกหนี้ซึ่งทำให้ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรรมการของลูกหนี้บริหารงานหรือกระทำการทุจริตอันไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารแผนต่อไป นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าการดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในระยะที่ผ่านมาอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและถดถอยไปทั่วภูมิภาค ข้ออ้างของเจ้าหนี้จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้บริหารแผนและคณะทำงานของผู้บริหารแผนไม่อาจปฏิบัติการตามแผนฟื้นฟูกิจการให้ประสบความสำเร็จได้ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นและในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share