แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงและท้ากันเพื่อให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า งานที่โจทก์ทำนั้นเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12(2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการทำงานล่วงเวลาหรือไม่และถือเป็นการตกลงทำงานล่วงเวลาโดยปริยายหรือไม่ รวมทั้งจะถือว่าจำเลยได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์โดยปริยายหรือไม่รวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์โดยปริยายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นคำท้าซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์อีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
งานที่โจทก์ทำเป็นงานขนส่งทางบก โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามคำท้าแต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลา เมื่อเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลามิใช่ค่าล่วงเวลา โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจึงไม่เป็นไปตามคำท้าและไม่ชอบด้วยบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องเป็นใจความว่า เมื่อวัน เดือน ปี ตามฟ้อง จำเลยจ้างโจทก์ทั้งเก้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่บริการภาคพื้นดิน กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือนและโจทก์ทั้งเก้าได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง ระหว่างทำงานจำเลยสั่งให้โจทก์ทั้งเก้าทำงานล่วงเวลา โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 1 เท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างปกติรายชั่วโมง รายละเอียดตามบัญชีค่าล่วงเวลาท้ายคำฟ้องโจทก์ทั้งเก้าขอให้บังคับจำเลยชำระค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 98,221 บาท แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน46,368 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 75,273 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 103,474 บาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 31,437 บาท แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 58,096 บาท แก่โจทก์ที่ 6เป็นเงิน 76,524 บาท แก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 26,736 บาท แก่โจทก์ที่ 8 และเป็นเงิน77,996 บาท แก่โจทก์ที่ 9 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งเก้าสำนวนให้การว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษ โจทก์ทั้งเก้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในแผนกบริการภาคพื้นดินมีหน้าที่รับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของจำเลยโดยโจทก์ทั้งเก้าเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวัน เดือน ปีและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามคำให้การจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544โจทก์ที่ 4 ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยระหว่างทำงานจำเลยมีคำสั่งหรือมอบหมายให้โจทก์ทั้งเก้าทำงานล่วงเวลาให้แก่จำเลย และจำเลยชำระค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่เคยทำหลักฐานเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลากับจำเลย ซึ่งการงานของโจทก์ทั้งเก้ามีลักษณะหรือสภาพเป็นงานขนส่งทางบก โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามฟ้อง เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ข้อ 6 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน กับโจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้นและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งเก้าขาดอายุความ 6 เดือนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 42,018.72 บาท แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 26,177.94 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 14,165.41 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 34,740.06 บาท แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 20,332.31 บาท แก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 16,532.38 บาท แก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 18,758.65 บาท แก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน18,423.59 บาท แก่โจทก์ที่ 8 และเป็นเงิน 32,675.80 บาท แก่โจทก์ที่ 9 ตามบัญชีเอกสารหมาย ล.4 (ช่องสรุปเงินค้างจ่ายในส่วนค้างจ่าย 1.5 เท่า) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าล่วงเวลา นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 เมษายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษ โจทก์ทั้งเก้าเป็นลูกจ้างของจำเลยทำหน้าที่บริการภาคพื้นดินโดยมีหน้าที่รับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของจำเลยด้วยรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ตู้ซึ่งเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ระหว่างที่โจทก์ทั้งเก้าทำงานให้จำเลย จำเลยสั่งให้โจทก์ทั้งเก้าทำงานล่วงเวลาตามวันและจำนวนชั่วโมงตามบัญชีท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งเก้าทำงานลักษณะเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งข้อ 3 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งทำหน้าที่ขับขี่ยานพาหนะทำงานล่วงเวลาเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกจ้าง เมื่อโจทก์ทั้งเก้าไม่ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการทำงานล่วงเวลาและไม่อาจถือเป็นการตกลงกันโดยปริยาย อีกทั้งจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยาย โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลานั้นเห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยได้แถลงร่วมกันไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองฝ่าย โดยทั้งสองฝ่ายขอให้ศาลวินิจฉัยเพียงว่างานบริการภาคพื้นดินอันเป็นหน้าที่ของโจทก์ทั้งเก้านั้นเป็นงานขนส่งทางบกหรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยเห็นว่า เป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า แต่จ่ายเป็นค่าตอบแทนเพียง 1 เท่า ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 6 แต่ฝ่ายโจทก์ทั้งเก้าเห็นว่าจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า และขอให้วินิจฉัยด้วยว่าจำนวนเงินที่จำเลยค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งเก้าเป็นจำนวนเท่าใดตามที่ระบุในเอกสารหมายล.4 รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยจะเป็นร้อยละ 15 ต่อปีตามฟ้องหรือร้อยละ 7.5 ต่อปีตามที่จำเลยให้การ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าวและแถลงไม่ติดใจสืบพยานของทั้งสองฝ่ายโดยขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตามประเด็นที่แถลง จึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งเก้าและพยานจำเลย และนัดฟังคำพิพากษา ดังนี้เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงและท้ากัน เพื่อให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามประเด็นที่ท้ากันว่า งานที่โจทก์ทั้งเก้าทำนั้นเป็นงานขนส่งทางบกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ หากวินิจฉัยว่าเป็นงานขนส่งทางบกจำเลยก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนในอัตรา 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติ หากวินิจฉัยว่าไม่ใช่งานขนส่งทางบก จำเลยก็ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตรา 1.5 เท่า ของค่าจ้างในวันทำงานปกติตามบัญชีเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งตามที่คู่ความแถลงท้ากันให้ศาลวินิจฉัยนั้นไม่มีประเด็นว่า โจทก์ทั้งเก้าได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือในการทำงานล่วงเวลาหรือไม่และถือเป็นการตกลงทำงานล่วงเวลาโดยปริยายหรือไม่ รวมทั้งจะถือว่าจำเลยได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายหรือไม่รวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งเก้าโดยปริยายจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นคำท้าซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์อีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ แต่เมื่อปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า งานที่โจทก์ทั้งเก้าทำนั้นเป็นงานขนส่งทางบกโจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามคำท้า แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำคือในอัตรา 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานปกติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (2541) ข้อ 6 ที่กล่าวมา ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4ในช่องสรุปเงินค้างจ่าย (ค้างจ่าย 1) ตามที่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยรับกัน ส่วนดอกเบี้ยนั้นเมื่อปรากฏว่าเงินที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลามิใช่ค่าล่วงเวลาที่จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง จึงเป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งเก้าพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจึงไม่เป็นไปตามคำท้าและไม่ชอบด้วยบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 23,532.81 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 14,229.96 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน9,320.94 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 21,158.87 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 13,488.87 บาทโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 10,944.28 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 12,373.43 บาท โจทก์ที่ 8 เป็นเงิน12,104.72 บาท และโจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 18,515.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 เมษายน 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน