คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือของผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรม ไม่มีผลให้ข้อกำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะ จำเลยมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนางมา พิสูจเสียงหรือพิสูตรเสียงหรือพิสูจน์เสียงเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535เจ้ามรดกเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวงษ์ พิสูจเสียงไม่มีบุตรด้วยกัน นายวงษ์ และบิดามารดาของเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกนานแล้ว ทรัพย์มรดกตกได้แก่ทายาทโดยธรรมลำดับ 3 คือนางน้อย อินหนุน ซึ่งเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก แต่นางน้อยได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก นางน้อยมีบุตร 2 คน คือนายลาภ พิสูจเสียงและนางเลียบ อินหนุน มีสิทธิรับมรดกแทนที่ แต่นายลาภถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดก โจทก์เป็นบุตรของนายลาภ กับนางพริ้มพิสูจเสียง ซึ่งบิดารับรองแล้ว มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายลาภปัจจุบันมีทายาทโดยธรรมซึ่งมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก คือโจทก์และนางเลียบ ขณะมีชีวิตอยู่ เจ้ามรดกเป็นเจ้าของที่ดินน.ส.3 เลขที่ 84 และบ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 7 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 215/2535 ของศาลชั้นต้น จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านอ้างว่า เมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2534 ก่อนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สิน คือที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียวตามสำเนาพินัยกรรมท้ายฟ้อง โจทก์จึงได้ถอนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 เพื่อมาฟ้องเพิกถอนพินัยกรรม ปรากฎว่าวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 22 กันยายน 2535 จำเลยได้ไปจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จำเลยมิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก พินัยกรรมที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างและนำไปดำเนินการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนทรัพย์มรดกเป็นของจำเลยนั้น เป็นพินัยกรรมที่ได้กระทำขึ้นด้วยกลฉ้อฉลของจำเลยโดยจำเลยใช้อุบายจูงใจเจ้ามรดกให้กระทำ ในขณะนั้น เจ้ามรดกมีอายุถึง 74 ปี กำลังป่วยด้วยโรคชราและเบาหวาน มีสติไม่สมประกอบพูดจาไม่ได้เรื่องสมบูรณ์ และมีการจับมือให้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือโดยเจ้ามรดกไม่รู้ในการกระทำว่าเป็นการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้จำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาทำพินัยกรรมของเจ้ามรดก พินัยกรรมไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและจำเลยซึ่งพินัยกรรมดังกล่าวระบุให้เป็นผู้รับทรัพย์ของเจ้ามรดกตามพินัยกรรมได้ลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์มรดกให้จำเลยจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมการที่จำเลยไปดำเนินการโอนทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกและเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ติดต่อเจรจาให้จำเลยโอนทรัพย์มรดกกลับมาเป็นเจ้ามรดกแล้วแต่จำเลยไม่ยอม ขอให้พิพากษาให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่21 สิงหาคม 2534 ซึ่งมีข้อกำหนดให้ยกที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 84ให้แก่จำเลยนั้น ตกเป็นโมฆะ ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกต่อไป ให้การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่จำเลยดำเนินการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2535 ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นชื่อของนางมา พิสูจเสียงหรือพิสูตรเสียง เจ้ามรดก หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินแปลงดังกล่าวคืนโจทก์
จำเลยให้การว่า พินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นถูกต้องตามพินัยกรรม และเจ้ามรดกได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยยึดถือไว้ด้วย จำเลยลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเจ้าพนักงานให้จำเลยลงชื่อไป จำเลยเป็นชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องชี้สองสถานและสืบพยาน จึงมีคำสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้ข้อกำหนดพินัยกรรมของนางมา พิสูจเสียง เจ้ามรดกฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2534ข้อ 1 (1) ที่ยกที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 84 ตำบลบางสะพานน้อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 25 ไร่ 80 ตารางวา ให้แก่จำเลย ตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนเป็นของนางมา พิสูจเสียง เจ้ามรดกหากจำเลยไม่ปฎิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2534 นางมา พิสูจเสียงเจ้ามรดก ได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อย มีข้อกำหนดให้ยกที่ดิน น.ส.3เลขที่ 84 ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 25 ไร่ 80 ตารางวา ให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียว โดยจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยคดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมมีผลให้ข้อกำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือฉบับพิพาทมีข้อความระบุว่าพินัยกรรมทำต่อหน้านายอำเภอบางสะพานน้อยนางจรัญญา หัตถา พยานกับ นางกมลลักษณ์ อินทร์ประเสริฐพยาน และบันทึกท้ายพินัยกรรมมีข้อความว่า “ข้าพเจ้านายสมมาตรขาวปลอด ตำแหน่งปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอบางสะพานน้อย ขอรับรองว่า นางมา พิสูจน์เสียง ผู้ทำพินัยกรรมได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ต่อหน้าข้าพเจ้าและพยาน 2 คน คือนางจรัญญา หัตถา และนางกมลลักษณ์ อินประเสริฐ ณ ที่ว่าการอำเภอบางสะพานน้อย ข้าพเจ้าได้จดและอ่านข้อความที่ทำเป็นพินัยกรรมขึ้นนั้น ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง ผู้ทำพินัยกรรมและพยานได้รับรองข้อความว่าถูกต้องและลงลายมือชื่อในพินัยกรรม”แสดงว่าจำเลยไม่ใช่พยานในการทำพินัยกรรม การที่จำเลยลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือผู้ทำพินัยกรรมจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองพินัยกรรมไม่มีผลให้ข้อกำหนดพินัยกรรมยกที่ดินแก่จำเลยเป็นโมฆะจำเลยมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมได้ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีชอบหรือไม่ เห็นว่า คดียังมีประเด็นตามคำฟ้องซึ่งระบุอีกว่าพินัยกรรมกระทำขึ้นด้วยกลฉ้อฉล โดยจำเลยใช้อุบายจูงใจเจ้ามรดกให้กระทำขณะที่เจ้ามรดกมีอายุถึง 74 ปี ป่วยด้วยโรคชราและเบาหวาน มีสติไม่สมประกอบ พูดจาไม่ได้เรื่องสมบูรณ์มีการจับมือให้เจ้ามรดกพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยเจ้ามรดกไม่รู้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้จำเลย พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยให้การปฎิเสธ ดังนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจะเป็นประการใด ควรจะได้ฟังคำพยานของโจทก์จำเลยก่อน ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย และมีคำพิพากษาจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นดังกล่าวแล้วจึงพิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share