คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 เป็นตำรวจ ประจำกอง 2 ตำรวจสันติบาลสมคบกันทำผิดกฎหมาย โดยจำเลยที่ 1 เรียกเงินเป็นสินน้ำใจจากผู้ต้องหา ในการที่อุปการะแก่การที่จำเลยที่ 1 ให้คุณแก่ผู้ต้องหาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ไปรับเงินมาจากผู้ต้องหา มาเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยทั้ง 2 ดังนี้ แม้ศาลจะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนและถือว่า อยู่ในฐานะเสมือนราษฎร ทำผิดร่วมกับเจ้าพนักงาน ควรมีผิดเพียงฐานสมรู้เท่านั้นก็ดี ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานสมรู้ได้ ไม่เรียกว่า ข้อเท็จจริงต่างกับฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจสำราณราษฎร์ จำเลยที่ ๒ รับราชการเป็นพนักงานตำรวจประจำกอง ๒ ตำรวจสันติบาล ได้บังอาจสมคบกันทำผิดกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ได้บังอาจเรียกเอาเงิน ๓๕๐ บาท จากนายณรงค์ ผู้ต้องหา ฐานทำร้ายร่างกายนายโอวกี่ โดยจำเลยที่ ๑ จะช่วยทำคดีซึ่งต้องหานั้นเสร็จเรียบร้อยชั้นสถานีตำรวจไม่มีเรื่องต่อไป และนัดหมายให้จำเลยที่ ๒ ไปรับเงิน แล้วจำเลยที่ ๒ ได้ไปรับเงินจากนายณรงค์เป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยทั้งสองเสีย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๗
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ทำผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นตำรวจสันติบาล ไม่ใช่เจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน จึงอยู่ในฐานะเสมือนราษฎรทำผิดร่วมกับเจ้าพนักงาน จึงเป็นผิดฐานสมรู้ จึงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๓๗ ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๑๓๗, ๖๕
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ใช่เจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ ข้อเท็จจริงจึงต่างกับฟ้องนั้น ฟังไม่ได้ เพราะโจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ รับราชการเป็นพนักงานตำรวจประจำกอง ๒ ตำรวจสันติบาล และข้อเท็จจริงก็ตรงดั่งฟ้อง ฎีกาข้ออื่นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

Share