แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นสามยทรัพย์ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางภารจำยอมซึ่งกว้าง 4 เมตร เข้าออกสู่ถนนสาธารณะตรงจุดใด บริเวณใดในเวลาใดก็ได้ การที่จำเลยนำเสาไม้มาปักย่อมทำให้ทางแคบลง การเทปูนซีเมนต์เพื่อทำให้ทางลาดชันย่อมทำให้การสัญจรผ่านไปมาไม่สะดวก การทำประตูเหล็กปิดกั้นรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออก แม้จำเลยจะอ้างว่าเพื่อตรวจสอบบุคคลที่ไม่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมมาใช้ทางก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับบุคคลภายนอก แต่โจทก์เข้าออกได้ไม่สะดวกเพราะโจทก์จะต้องคอยขออนุญาตจำเลยเปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางภารจำยอมได้เต็มตามสิทธิ ถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น
จำเลยนำอิฐและหินมาทิ้งไว้ในลักษณะนำมากองปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้บดอัดให้แน่นเพื่อมิให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมได้โดยสะดวก เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 117448 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7328 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 41438 ซึ่งได้จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7328 กว้าง 4 เมตร ยาวออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลย เพื่อให้เพิกถอนภารจำยอมและศาลฎีกามีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2539 ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยขัดขวางไม่ให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมโดยปกติสุข ขอให้บังคับจำเลยรื้อเสาไม้และรั้วประตูเหล็กที่เปิดปิดทางเข้าออกทางภารจำยอมและปรับสภาพคืนให้เหมือนเดิม ห้ามขัดขวางและห้ามมิให้ทำการอันใดที่จะเป็นเหตุให้ใช้ทางพิพาทไม่สะดวก หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทำเองได้ โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2539ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 ให้เพิกถอนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7328 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 41438 ระหว่างจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์กับนายไพบูลย์ จำเริญวิทย์ จำเลยที่ 2 และนายไพโรจน์ จำเริญวิทย์ จำเลยที่ 3 ยกฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 2ที่ 3 ในคดีดังกล่าวฝ่าฝืนคำพิพากษาและคำบังคับ โดยนำรถยนต์แล่นเข้าออกทางภารจำยอมตลอดมา จำเลยจึงทำประตูเปิดปิดตรวจสอบว่ารถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเป็นของผู้ใดและจะเข้าไปยังที่ดินแปลงใด เพื่อรักษาสิทธิในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยไม่ใช่ปิดกั้นอย่างถาวร จำเลยนำอิฐและหินมาทางภารจำยอมให้สูงขึ้นเพื่อให้พ้นจากระดับน้ำท่วมขัง โจทก์ได้ละทิ้งการใช้ทางภารจำยอมมากว่า 10 ปีแล้ว โจทก์ไม่เคยมีภูมิลำเนาในที่ดินโฉนดเลขที่ 117448 และไม่ได้ใช้ทางภารจำยอมเข้าออกสู่ที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่โจทก์และบริวารใช้ทางภารจำยอมเป็นทางเข้าออกสู่บ้านเลขที 155/21 และเลขที่ 147 ข ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงอื่นที่มิใช่สามยทรัพย์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อเสาไม้และรั้วประตูเหล็กที่เปิดปิดทางเข้าออกทางภารจำยอมและปรับสภาพคืนให้เหมือนเดิมห้ามขัดขวางและห้ามมิให้กระทำการอันใดที่จะเป็นเหตุให้ใช้ทางพิพาทไม่สะดวก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้จดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 41438 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7328 ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของนางวรรณี จำเริญวิทย์ มารดาโจทก์ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอมเอกสารหมาย จ.4 นางวรรณีได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7328 ให้บุตร โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 117448ตำบลบางอ้อ อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสามยทรัพย์มีสิทธิในภารจำยอมกว้าง 4 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่เพื่อให้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะในที่ดินโฉนดเลขที่ 41438 ของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์ จำเลยเคยฟ้องโจทก์กับพวกขอให้เพิกถอนภารจำยอม คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2539 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2539 โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2540 จำเลยนำอิฐและหินมาถมทางภารจำยอมให้สูงขึ้นจากระดับพื้นถนนเดิม ปักเสาไม้แล้วเทปูนซีเมนต์ทำให้มีความลาดชันระหว่างรอยต่อของพื้นถนนเดิมกับพื้นถนนที่ถมใหม่พร้อมกับทำประตูเหล็กบริเวณทางภารจำยอมเพื่อปิดกั้นรถยนต์ตามภาพถ่ายหมาย จ.6
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยขัดขวางไม่ให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมเพื่อเข้าสู่ที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 117448 ซึ่งเป็นสามยทรัพย์ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ทางภารจำยอมกว้าง 4 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 41438 ของจำเลยอันเป็นภารยทรัพย์เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตามสำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องภารจำยอมเอกสารหมาย จ.4 โจทก์มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกในทางภารจำยอมตรงจุดใด บริเวณใดในเวลาใดก็ได้ตามความประสงค์หรือเพื่อความสะดวกของโจทก์ทุกเมื่อ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะขัดขวางมิให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมหรือทำให้ทางภารจำยอมลดน้อยลงหรือทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ทางภารจำยอมนั้นการที่จำเลยนำเสาไม้มาปัก ย่อมทำให้ทางแคบลง การเทปูนซีเมนต์เพื่อทำให้ทางลาดชันย่อมทำให้การสัญจรผ่านไปมาไม่สะดวก การทำประตูเหล็กปิดกั้นรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออก แม้จำเลยจะอ้างว่าเพื่อตรวจสอบบุคคลที่ไม่มีสิทธิใช้ทางภารจำยอมมาใช้ทางดังกล่าวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับบุคคลภายนอก แต่การกระทำของจำเลยเช่นนั้นเห็นได้ชัดว่าโจทก์จะเข้าออกทางภารจำยอมได้ไม่สะดวกเพราะโจทก์จะต้องคอยขออนุญาตจำเลยเปิดประตู ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางภารจำยอมได้เต็มตามสิทธิกรณีถือได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 จำเลยไม่มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้น ส่วนที่จำเลยอ้างว่านำอิฐและหินมาถมทางภารจำยอมเพื่อปรับสภาพให้ดีขึ้นมิให้น้ำท่วมทางน้ำ เห็นว่า หากจำเลยมีเจตนาถมทางภารจำยอมให้สูงระดับเดียวกับถนนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้ประโยชน์ก็ย่อมจะทำได้ แต่พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่นำอิฐและหินมาทิ้งไว้ในลักษณะนำมากองปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้บดอัดให้แน่นอีกทั้งนำเสาไม้มาปักและทำประตูเหล็กกั้นไว้ด้วยเช่นนี้ ส่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวเพื่อมิให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมได้โดยสะดวก ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการขัดขวางไม่ให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมเพื่อเข้าสู่ที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของโจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1390 นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ กฎหมายกำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในชั้นอุทธรณ์ไว้ไม่เกิน 1,500 บาท ตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์2,000 บาท แทนโจทก์จึงเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์