คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 530/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคาร ก. และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคาร ก. ทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองธนาคาร ท. โดยมีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายบ้านและที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืนอันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้ การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่การแสดงเจตนาลวง แต่เมื่อจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยในราคา 850,000 บาท แต่จำเลยและบริวารยังคงพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทต่อมาโจทก์ต้องการใช้สอยทำประโยชน์ในบ้านและที่ดินพิพาท จึงได้แจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากหากโจทก์นำบ้านและที่ดินพิพาทไปให้บุคคลอื่นเช่า จะได้ค่าเช่าในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 166 ถนนพหลโยธิน ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา และออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 40,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้บอกให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์นำไปกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา โดยจำเลยเป็นผู้ผ่อนชำระเงินคืนแก่ธนาคารดังกล่าว หากจำเลยชำระเงินครบถ้วน โจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์คืนแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงกว่าความเป็นจริง ค่าเช่าบ้านและที่ดินดังกล่าวหากจะนำไปให้บุคคลอื่นเช่า คงได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากบ้านเลขที่ 166 และที่ดินโฉนดเลขที่ 11048 ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5กุมภาพันธ์ 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านและที่ดินดังกล่าว

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่าเดิมจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทที่จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา และจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมจากโจทก์จำนวนหนึ่ง ต่อมาธนาคารดังกล่าวทวงให้จำเลยชำระหนี้จำนอง จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ แล้วโจทก์นำไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เป็นเงิน 800,000 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงของโจทก์กับจำเลยหรือไม่ ฝ่ายจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน มีตัวจำเลยและภริยาจำเลยมาเบิกความว่าเหตุที่ต้องทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์แนะนำเนื่องจากจำเลยถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ทวงให้ชำระหนี้จำนองและเพื่อให้โจทก์นำไปเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยาโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ เมื่อผ่อนครบแล้วโจทก์ก็จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนแก่จำเลย หลังจากนั้นจำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ได้เพียง 9 งวดตามใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.13 ซึ่งเป็นหลักฐานเพียงบางส่วน แล้วไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้อีก ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความว่า รู้จักจำเลยและภริยาจำเลยมานานประมาณ 10 ปี จำเลยและภริยาจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เป็นประจำ เมื่อถึงต้นปี 2539 จำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์รวม 800,000 บาทเมื่อโจทก์ไปทวงหนี้จากจำเลย จำเลยอ้างว่าไม่มีเงินชำระ เนื่องจากจำเลยยังเป็นหนี้จำนองแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา และธนาคารกำลังจะยึดที่ดินและบ้านพิพาทวันที่ 11 กันยายน 2539 จำเลยจึงตกลงทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทแก่โจทก์ในราคา 1,800,000 บาท เมื่อหักชำระหนี้ที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 800,000 บาท แล้วโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยอีกจำนวน 1,000,000 บาท โดยโจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ได้ในวงเงิน 800,000 บาท กับเงินส่วนตัวอีก 200,000 บาท เหตุที่ใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยอยู่กับจำเลยเพราะจำเลยยืมไปโดยอ้างว่าเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เพื่อซื้อที่ดินและบ้านพิพาทคืนจากโจทก์ เห็นว่า โจทก์ประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินซึ่งย่อมมุ่งต่อผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ย โจทก์จำเลยทำสัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539แต่เพิ่งให้ทนายความทำหนังสือขับไล่จำเลยลงวันที่ 6 ตุลาคม 2540 ระยะเวลาห่างกันเกือบปี หากโจทก์ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากจำเลยที่ยังคงอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทเรื่อยมาดูจะขัดต่ออาชีพให้กู้ยืมเงินของโจทก์ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากที่โจทก์เป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา แต่ใบรับชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยกลับอยู่ที่จำเลย ยิ่งทำให้ข้อนำสืบของจำเลยที่อ้างว่ามีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ เมื่อชำระครบถ้วนแล้วโจทก์ จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลยมีน้ำหนักในการรับฟัง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยยืมใบรับชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ประกอบการกู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา ไม่มีเหตุผลเพราะไม่มีความจำเป็นที่จำต้องกระทำเช่นนั้น กรณีจึงน่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าว อย่างไรก็ดี การที่โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาพะเยา เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนตามสัญญา ส่วนจำเลยหาต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อธนาคารตามกฎหมายไม่ ดังนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาขายที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์จริง แต่มีข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารแทนโจทก์จนครบถ้วนแล้วโจทก์จะโอนที่ดินและบ้านพิพาทคืนจำเลย ดังนั้น สัญญาขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทำขึ้นโดยมีเจตนาที่แท้จริง แต่มีเงื่อนไขในการโอนกลับคืน อันถือเป็นข้อตกลงที่บังคับได้การซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ได้ผ่อนชำระหนี้แทนโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทอีกต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share