คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10252/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารหมาย จ. 4 เป็นเอกสารที่โจทก์อ้างอิงและยื่นต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามข้อ 15 แห่งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2544 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ดังนั้น แม้ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความถึงเอกสาร ดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถหยิบยกเอกสารดังกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
เอกสารหมาย จ. 4 เป็นหนังสือทั่วไปที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ ของธนาคารจำเลยที่ 4 รวมทั้งแจ้งถึงผู้จัดการธนาคารอื่นว่า จำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นตามบัญชีรายชื่อผู้ค้างชำระภาษีอากรดังกล่าว มีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหรือไม่ หากมีเป็นเงินฝากประเภทใด เลขที่บัญชีใด จำนวนเท่าใด แล้วแจ้งให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 10 ทราบ โดยไม่ได้แจ้งว่าโจทก์กำลังจะบังคับชำระหนี้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 รู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้าง ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนรับจำนอง ที่ดินพิพาทโดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ 4 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต ก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยที่ 4 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๒๙๘๒ ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และเพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว ระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ โดยให้กลับเป็นที่ดินของจำเลยที่ ๑ ดังเดิม โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่โอนที่ดินแปลงดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้อง จดทะเบียนขายให้จำเลยที่ ๒ และ ที่ ๓ แล้วจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๔ จริง แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน…
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง การรับจำนองที่ดินแปลงพิพาทจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นไปโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนมิได้รู้ถึงความจริงว่าเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ ๔ เป็นบุคคลภายนอกได้สิทธิมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้ใช้สิทธิทางศาลภายในเวลา ๑ ปี นับแต่วันทำนิติกรรมซื้อขาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๒๙๘๒ ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ได้จดทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ให้กลับเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้ ออกค่าใช้จ่าย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามธุระกิจ ๙๔ โดยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ห้างดังกล่าวและจำเลยที่ ๑ ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. ๗๓.๑) จากโจทก์ ให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม คิดถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ จำนวน ๗,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ห้างดังกล่าวโดยจำเลยที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๒๙๘๒ ตำบลบางแก้ว (บางนา) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีชื่อ จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วในวันเดียวกัน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๔ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จากจำเลยที่ ๑ โดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ส่วนจำเลยที่ ๔ นั้น เป็นบุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดี การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของจำเลย ที่ ๔ พิพากษายกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ ๔ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๔ รับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยสุจริตก่อนฟ้องคดีขอเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาคดีที่ศาลภาษีอากรกลาง แม้ฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความถึงการที่โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ. ๔ แจ้งให้จำเลยที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าภาษีอากรโจทก์ แต่เอกสารหมาย จ. ๔ ดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ได้อ้างอิงและยื่นต่อศาลภาษีอากรกลางก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ตามข้อ ๑๕ แห่งข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ดังนั้น ประเด็นว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๔ ค้างชำระภาษีอากรโจทก์ตามหนังสือเอกสารหมาย จ. ๔ นั้น จึงได้มีการนำสืบมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ย่อมสามารถหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าภาษีอากรโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. ๔ แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าจำเลยที่ ๔ ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉลหรือไม่ เห็นว่า เอกสารหมาย จ. ๔ เป็นหนังสือทั่วไปที่สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ๑๐ แจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ ๔ รวมทั้งแจ้งถึงผู้จัดการธนาคารอื่นว่าจำเลยที่ ๑ และบุคคลอื่นตามบัญชีรายชื่อผู้ค้างภาษีอากร เป็นผู้ค้างชำระภาษีอากรขอให้จำเลยที่ ๔ และธนาคารอื่นช่วยตรวจสอบว่า ผู้ค้างชำระภาษีอากรดังกล่าวมีบัญชีเงินฝากอยู่ที่ธนาคารหรือไม่ หากมีเป็นบัญชีเงินฝากประเภทใด เลขที่บัญชีใด จำนวนเท่าใด แล้วแจ้งให้สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ๑๐ ทราบ โดยไม่ได้แจ้งว่าโจทก์กำลังจะบังคับชำระหนี้ที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๔ และข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๔ รู้ว่าจำเลย ที่ ๑ โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างทำให้โจทก์เสียเปรียบ ถือว่าจำเลยที่ ๔ ได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จำเลยที่ ๔ จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริตก่อนเริ่มฟ้องคดีขอเพิกถอนการฉ้อฉล การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของจำเลยที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๘ วรรคหนึ่ง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ.

Share