แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง วิธีพิจารณาแพ่ง คู่กรณีไม่อ้างใบเสร็จแลสัญญาที่ทำไว้ต่อกันมาเป็นพะยาน ศาลให้จำเลยใช้เท่าที่จำเลยรับ
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นนายวงแชร์ ต่างฝากรับเงินแชร์ซึ่งกันและกันตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๐ โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยอยู่ ๒๐๗๙ บาท ๕๔ สตางค์ ขอให้จำเลยใช้ จำเลยที่ ๒-๓-๔-๕ ต่อสู้ว่าได้ออกจากหุ้นแล้วไม่ต้องรับผิด
โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพะยานในข้อที่มีหนี้สินกันอย่างไร แต่ทำตราสารรับรองกันดังนี้
๑. ถ้าคิดโดยวิธีสูงต่ำ โดยเอาใบเสร็จแลสัญญาทั้งหมดหักกัน สหกรณ์ธนานุเคราะห์ต้องใช้เงินให้โจทก์ ๒๐๗๙ บาท ๕๔ สตางค์
๒. ถ้าคิดโดยวิธีเงินสดซึ่งส่งและรับกันเป็นรายเดือน โจทก์จะได้เงิน ๓๘๐ บาท ๔๕ สตางค์
๓. ถ้าคิดโดยวิธีคืนดอกเบี้ยหมดและรับเงินสดทันที ส่วนแชร์ตายส่งกันเป็นรายเดือน โจทก์จะได้เงิน ๑๐๓ บาท ๖๙ สตางค์
โจทก์ขอให้จำเลยใช้เงินในวิธีที่ ๑ จำเลยว่าควรใช้ในวิธีที่ ๒ ส่วนจำเลยที่๒-๓-๔-๕ สืบพะยานในข้อที่ว่า ได้ออกจากหุ้นแล้วต่อไป
ศาลแพ่งตัดสินให้จำเลยใช้เงินในวิธีที่ ๑
ศาลอุทธรณ์ตัดสินแก้ฉะเพาะตัวจำเลยที่ ๕ ว่าไม่ต้องรับผิดด้วย เพราะได้ออกจากหุ้นไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๙ ส่วนหนี้รายนี้ตามรายงานบัญชีว่าเป็นเงินที่เกี่ยวค้างกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นต้นมา นอกนั้นยืนตามศาลเดิม
ศาลฎีกาตัดสินว่า ไม่ได้ความว่าการเล่นวงแชร์นั้นทำกันอย่างไร และโจทก์จำเลยก็ไม่ได้อ้างาใบเสร็จและสัญญาที่ว่าทำให้ไว้ต่อกันมาเป็นพะยาน ฉนั้นการได้เสียกันโดยวิธีเล่นวงแชร์นั้น ศาลไม่เข้าใจจึงจะบังคับให้จำเลยใช้เงินในวิธีที่ ๑ ยังไม่ได้ แต่ในวิธีที่ ๒ ปรากฎว่า รับส่งเงินสดกันเป็นรายเดือน และจำเลยก็ยอมใช้เงินตามนี้ จึงตัดสินแก้ศาลล่างให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ตามวิธีที่ ๒ เป็นเงิน ๓๘๐ บาท ๔๕ สตางค์ คดีส่วนตัวจำเลยที่ ๕ คงยืนตามศาลอุทธรณ์