แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา2บัญญัติว่าพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศในวันที่19สิงหาคม2530โจทก์จึงไม่สามารถอ้างเอาหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาเป็นประโยชน์ในการคำนวณเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทได้ที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯพ.ศ.2526ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้จึงต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงนี้ได้บัญญัติในข้อ76(2)ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นใช้บังคับเมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯพ.ศ.2517ใช้บังคับวันที่29พฤษภาคม2517ดังนั้นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดจึงต้องถือราคาในวันที่29พฤษภาคม2517 โจทก์เข้าปรับปรุงที่ดินภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯพ.ศ.2517ประกาศใช้แล้วไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนให้โจทก์จะเรียกร้องค่าปรับปรุงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 102190 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวาโดยซื้อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2522ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2526 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ.2526 ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวได้ถูกเวนคืนเป็นจำนวน 2 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวาและจำเลยทั้งสองได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้โจทก์เพียงตารางวาละ 1,000 บาท และ300 บาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ดินที่กำหนดไว้ในปี 2517 โจทก์ซื้อที่ดินมาจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัดสูงกว่าราคาที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้มากประกอบกับโจทก์ได้ทำการปรับปรุงถมที่ให้สูงกว่าระดับปกติมาก และยังได้ล้อมรั้วไว้ตลอดแนวเขตที่ดินด้วยที่ดินของโจทก์อยู่ใกล้ถนนการคมนาคมสะดวกมีสาธารณูปโภคสมบูรณ์ ใกล้แหล่งชุมชนที่เจริญแล้วราคาค่าทดแทนจึงควรกำหนดจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ปี 2531 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 23,501,400 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ-แขวงลาดยาว พ.ศ. 2517ประกาศใช้บังคับในวันที่ 28 พฤษภาคม 2517 นั้นสภาพที่ดินของโจทก์ว่างเปล่า คงมีรั้วกระเบื้องลอนคู่ล้อมไว้เท่านั้น เฉพาะบริเวณที่ดินพิพาท โจทก์ได้กว้านซื้อจากบริษัทปูนซิมเมนต์ไทย จำกัด เมื่อปี 2522 เพื่อเก็งกำไร จำเลยที่ 2 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทตรงกับราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2517 ใช้บังคับโดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ยังมีที่ดินเหลือจากการเวนคืนอีกทำให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นมาก เนื่องจากเป็นที่ดินติดถนนใหญ่ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ไม่ได้กำหนดให้หักค่าความเจริญในส่วนนี้ออกจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโจทก์อย่างยิ่งโจทก์ได้ดำเนินการถมที่ดินปรับปรุงพื้นที่ภายหลังจากวันพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2517ใช้บังคับแล้ว ดังนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องชำระเงินค่าทดแทนและค่าปรับปรุงถมที่ดินแก่โจทก์ตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่28 พฤษภาคม 2517 ได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงบางซื่อ-แขวงลาดยาว พ.ศ. 2517 ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประกาศให้ทางหลวงเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2522 โจทก์ซื้อที่ดินจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำนวน 11 แปลงเนื้อที่รวม 35 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา (รวมทั้งที่ดินพิพาทจำนวน 3 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา) เป็นเงิน12,000,000 บาทเศษ โดยเจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้คัดค้านการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเป็นที่ดินอยู่ในแนวเวนคืนต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2526 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลูแขวงบุคคโล เขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนงแขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแขวง ลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2526 ตามที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2517 แล้วและวันที่ 7 กรกฎาคม 2526 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลให้ที่ดินพิพาทถูกเวนคืนจำนวน 2 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวาคงเหลือเพียง 1 ไร่ 4 ตารางวา ปัญหาตามฎีกาโจทก์ที่ว่าศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนเท่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 28 พฤษภาคม 2517(ที่ถูกเป็นวันที่ 29 พฤษภาคม 2517) ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2517ใช้บังคับโดยศาลอุทธรณ์ใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 76เป็นบทกฎหมายกำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ชอบและไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์ทราบการเวนคืนที่ดินพิพาทในปี 2531 และทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสองโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ตามเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนจากราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี 2531ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(3),(4) เหตุที่โจทก์มิได้นำสืบราคาประเมินที่ดินพิพาทในปี 2517 ซึ่งเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯ พ.ศ. 2517ประกาศใช้ เพราะโจทก์เห็นว่าไม่เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 (มาตรา 221(3),(4)และโจทก์ก็ได้สืบถึงราคาประเมินปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2526 ประกาศใช้ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 2บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปและราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศในวันที่19 สิงหาคม 2530 โจทก์จึงไม่สามารถอ้างเอาหลักเกณฑ์การกำหนดเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาเป็นประโยชน์ในการคำนวณเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทได้ที่ดินพิพาทของโจทก์ถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลูแขวงบุคคโล เขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนงแขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้จึงต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับ ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว กรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงนี้ได้บัญญัติในข้อ 76(2) ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นใช้บังคับ คดีนี้เมื่อวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯพ.ศ. 2517 ใช้บังคับ คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2517 ดังนั้นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดจึงต้องถือราคาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2517 แต่ราคาที่ดินพิพาทในวันดังกล่าวที่ซื้อขายในท้องตลาดมีราคาเท่าใด สูงหรือต่ำกว่าที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระฯ กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2526 กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ โจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็น แต่เมื่อได้พิเคราะห์เทียบเคียงราคาที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นรวม 11 แปลง เนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวาซึ่งโจทก์ซื้อในปี 2522 เป็นเงิน 12,786,300 บาท คำนวณเฉลี่ยแล้วตารางวาละประมาณ 900 บาท ราคานี้เป็นราคาภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงฯพ.ศ. 2517 ประกาศใช้แล้วถึง 5 ปี ฉะนั้น ที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์รับไปแล้วจึงเป็นราคาที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอค่าปรับปรุงที่ดินด้วยนั้นเห็นว่า โจทก์เข้าปรับปรุงที่ดินภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวง พ.ศ. 2517 ประกาศใช้แล้วไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนให้โจทก์จะเรียกร้องค่าปรับปรุงในกรณีนี้ได้
พิพากษายืน