คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9042/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีร้ายแรงในตัวเองหรือไม่ แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะไม่ได้ระบุให้การกระทำของลูกจ้างเป็นความผิดร้ายแรง ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาหรือวินิจฉัยได้ว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่
จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการขุดเจาะปิโตรเลียม โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งวิศวกรตรวจวัดขณะขุดเจาะ ประจำแท่นขุดเจาะน้ำมัน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โจทก์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะออกปฏิบัติงานภาคสนามเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 64,864,948.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ค่าชดเชย 1,614,000 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 242,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ และมีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าศาลแรงงานภาค 6 ตีความขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีการระบุไว้ว่า การมีแอลกอฮอล์ในร่างกายเป็นเหตุร้ายแรง การจัดอาหารให้พนักงานของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การดูแลรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอดเวลาดังที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัย เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น การห้ามโจทก์ออกนอกสถานที่ทำงานนอกเวลางานเป็นการขัดต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ตามอำเภอใจขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้…(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน” ซึ่งคำว่า “กรณีที่ร้ายแรง” นี้ ย่อมหมายถึงลักษณะของการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่ง และพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็น แต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีร้ายแรงในตัวเอง ดังนั้น แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุให้เป็นความผิดร้ายแรง ศาลก็ย่อมมีอำนาจพิจารณาหรือวินิจฉัยได้ว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่ง ตามลักษณะที่ทำประกอบพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดจนสภาพแวดล้อมในกรณีนี้นั้นเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ มิใช่เป็นการตีความขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ดังที่โจทก์อุทธรณ์อ้างมา ส่วนที่ศาลแรงงานภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จัดอาหารไว้ให้แก่พนักงานเพื่อให้พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลานั้น เป็นการนำข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏจากการพิจารณาคดีมาหยิบยกเป็นเหตุผลประกอบเพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่เข้มงวดต่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งออกปฏิบัติงานภาคสนามเพื่อให้พนักงานพร้อมที่จะปฏิบัติงานตลอดเวลาและมีความปลอดภัย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 6 ในส่วนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด สำหรับที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ห้ามพนักงานออกนอกสถานที่ทำงานนอกเวลาทำงานนั้น ขัดต่อกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีข้อห้ามดังกล่าว ทั้งได้ความจากพยานฝ่ายโจทก์เองว่า ไม่มีข้อห้ามมิให้วิศวกรตรวจวัดขณะขุดเจาะออกนอกสถานที่ทำงานเมื่อหมดเวลาทำงานแล้ว ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างมานี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายใด เมื่อโจทก์ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ในขณะที่ออกปฏิบัติงานภาคสนามอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) หาใช่เป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามอำเภอใจและไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share