คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15454/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเดิมเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์โจทก์โดยร่วมกันทำซ้ำดัดแปลงที่รูปภาพหรือตัวงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ชนิดต่าง ๆ มาจัดทำสมุดภาพระบายสี ขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งสมุดภาพระบายสีที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์เพื่อการค้าและหากำไรและจำเลยที่ 1 แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมน เอซ อุลตร้าแมน อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนทาโร่ อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าแมนแจ็ค จัมโบเอหรือจัมบอร์กเอซ และได้ตั้งตัวแทนในการจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้ารูปอุลตร้าแมนออกจำหน่าย ทำสัญญาให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบันทึกสำเนาภาพยนตร์เป็นวีดิทัศน์โดยนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ และขายสิทธิในตัวอุลตร้าแมนแก่บริษัท ซ. ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหาย แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิท โดยลอกเลียนดัดแปลงลักษณะพิเศษหรือคาร์แรกเตอร์ของอุลตร้าแมนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นงานที่โจทก์สร้างขึ้นภายหลังภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งเก้าเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีคดีพิพาทกันตามคดีก่อน จำเลยทั้งสามร่วมกันนำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์การค้า โดยการนำออกแสดงสดบนเวทีและเก็บค่าแสดง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่างกรรมกันกับคดีละเมิดในคดีก่อนและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว โดยที่โจทก์มิอาจยกขึ้นกล่าวอ้างหรือมีคำขอบังคับขณะยื่นฟ้องคดีก่อนได้ จึงไม่ใช่คำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อพิจารณาลักษณะของการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท เพื่อนำไปอนุญาตให้บุคคลอื่นผลิตตัวหุ่นและของเล่น หรือใช้กับฉลากสินค้าต่าง ๆ หรือจัดทำเป็นชุดหุ่นที่ใช้ในการแสดงบนเวทีแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อว่า การจัดทำอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามจนทำให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะตามคำฟ้องได้ต้องอาศัยรายละเอียดจากภาพวาดที่แสดงลักษณะอุลตร้าแมนของโจทก์ ดังนั้นการจัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานจิตรกรรมอันได้แก่ภาพวาดที่แสดงลักษณะของอุลตร้าแมน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์ได้ออกแบบหรือสร้างสรรค์ก่อนที่โจทก์จะนำงานจิตรกรรมนั้นมาดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์อุลตร้าแมน
เมื่อเปรียบเทียบตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อนแล้วจะเห็นได้ว่าอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามมีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อน และความคล้ายคลึงกันดังกล่าวเป็นความคล้ายคลึงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าอุลตร้าแมนที่จำเลยทั้งสามสร้างขึ้นเป็นอุลตร้าแมนที่ปรากฏในภาพยนตร์อุลตร้าแมนจนมีบุคคลที่สามมาขออนุญาตใช้สิทธิในอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามหรือทำให้จำเลยทั้งสามสามารถนำไปจัดแสดงบนเวทีได้โดยใช้ชื่องานว่าอุลตร้าแมนไลฟ์โชว์ได้ จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามดัดแปลงงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีก่อนพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเฉพาะผลงานภาพยนตร์ 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาทเท่านั้น ส่วนภาพยนตร์ตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้น เมื่ออุลตร้าแมนเพาเวอร์ อุลตร้าแมนคิง อุลตร้าแมนทิก้า และอุลตร้าแมนคอสมอส เป็นผลงานจากภาพยนตร์ตอนใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ในสัญญาพิพาท ประกอบกับจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมนและอุลตร้าแมนเอลิทโดยดัดแปลงจากผลงานอุลตร้าแมนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่า ทำการสร้างสรรค์อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทไปโดยชอบ อีกทั้งภายหลังศาลฎีกาพิพากษาว่าสัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนได้อีก
ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน สัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประโยชน์อันเกิดแต่ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมน การที่โจทก์และตัวแทนการค้าของโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และแต่งตั้งบริษัท พ. ให้เป็นตัวแทนโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1
ผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้น โจทก์ประสงค์ให้ตัวละครอุลตร้าแมนเป็นภาพลักษณ์ของฝ่ายคุณธรรมโดยเป็นผู้พิทักษ์โลก การที่จำเลยทั้งสามดัดแปลงโดยสร้างตัวอุลตร้าแมนให้มีลายเส้นเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อที่บริเวณผิวแตกต่างจากอุลตร้าแมนของโจทก์ซึ่งไม่ใช้ลายเส้นเน้นกล้ามเนื้อ และมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยที่แตกต่างจากเดิมเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่แสดงออกของตัวอุลตร้าแมนออกมาอีกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หาได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวอุลตร้าแมนผู้ทรงคุณธรรมพิทักษ์โลกเสียไปแต่อย่างใดไม่ การดัดแปลงตัวอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงไม่ใช่การบิดเบือนผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดในธรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับ
(1) ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามนำตัวอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิหรือกระทำการใด ๆ อันถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์
(2) ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามลอกเลียน ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือกระทำการใดอันถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมด
(3) ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เกี่ยวกับงานอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
(4) ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ซึ่งโจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นและอยู่นอกเหนือจากภาพยนตร์ 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารท้ายคำฟ้อง
(5) ให้เพิกถอนสัญญาหรือข้อผูกพันที่จำเลยทั้งสามได้กระทำกับบุคคลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท เพิกถอนสัญญาหรือข้อผูกพันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำตัวละครอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า อุลตร้าแมนคอสมอส หรือตัวละครอุลตร้าแมนอื่น ๆ ของโจทก์ไปแอบอ้างสิทธิและให้สิทธิบุคคลอื่น ๆ และระงับการนำเอาผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าวไปอนุญาตให้บุคคลอื่นแสวงหาประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์
(6) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการลอกเลียนผลงานอุลตร้าแมน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไปจัดทำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทแล้วนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิเป็นเงิน 500,000,000 บาท
(7) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการนำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียมไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อการค้าหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นเงิน 720,000,000 บาท
(8) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานหรือตัวละครอุลตร้าแมนต่าง ๆ เช่น อุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า อุลตร้าแมนคอสมอส และนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้าเป็นเงิน 50,000,000 บาท
(9) ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการแอบอ้างสิทธิในตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม และนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้าเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
(10) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการแอบอ้างสิทธิในตัวละครอุลตร้าแมนชุดใหม่ ๆ ของโจทก์ และนำไปแสวงหาประโยชน์ทางการค้าเป็นรายเดือน เดือนละ 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
(11) ให้จำเลยทั้งสามหยุดรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ จากบุคคลทั้งหลายที่จำเลยทั้งสามนำเอาผลงานอุลตร้าแมนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปอนุญาตให้ใช้สิทธิ และให้บุคคลดังกล่าวส่งเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนการได้รับสิทธิดังกล่าวให้แก่โจทก์
(12) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,270,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,120,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ฟ้องแย้ง และแก้ไขฟ้องแย้งว่า ภายหลังทำสัญญาโอนสิทธิและเครื่องหมายการค้า โจทก์มีสิทธิเผยแพร่ผลงานอุลตร้าแมนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น การที่โจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนชุดใหม่ออกเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการค้านอกประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศไทยนับแต่วันที่ทำสัญญาโอนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับโจทก์ชำระ
(1) ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่โจทก์และตัวแทนทางการค้าของโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนชุดใหม่ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นโดยดัดแปลงจากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาโอนสิทธิให้จำเลยที่ 1 ออกเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการค้าในประเทศอื่นนอกประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศไทยนับแต่วันสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 100,000,000 บาท
(2) ค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและชี้แจงต่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 สื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไปว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำผลงานอุลตร้าแมนชุดต่าง ๆ ออกเผยแพร่เพื่อหาประโยชน์ทางการค้าในประเทศไทยและประเทศอื่นยกเว้นประเทศญี่ปุ่น และมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000,000 บาท
(3) ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของโจทก์ในอนาคตเป็นรายเดือนจำนวนเดือนละ 10,000,000 บาท นับถัดจากวันยื่นคำให้การและฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะหยุดการกระทำละเมิดดังกล่าว
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทแม็ทชิ่ง เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามนำตัวอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิหรือกระทำการใด ๆ อันถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์อีกต่อไป ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามลอกเลียน ทำซ้ำ ดัดแปลง หรือกระทำการใดอันถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งหมด ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เกี่ยวกับงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญา คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยร่วมและยกฟ้องแย้ง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจตามหนังสือรับรอง เมื่อปี 2540 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งแก่จำเลยที่ 1 รวม 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาพิพาท และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อีกต่อไป โดยวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของผลงานอันมีลิขสิทธิ์ในผลงานของอุลตร้าแมน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงมือกระทำการใด ๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วมฟังไม่ขึ้น ไม่อาจฟังได้ว่าลายมือชื่อของนายโนโบรุ ในสัญญาพิพาทเป็นลายมือชื่อปลอม สัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่นายโนโบรุทำให้แก่จำเลยที่ 1 จริง ลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์ รวม 9 เรื่อง ดังกล่าวเท่านั้นมีที่การโอนไปให้จำเลยที่ 1 ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ตามสัญญาข้อ 2 ระบุให้เป็นสัญญาโอนสิทธิ โดยให้รวมไปถึงสิทธิในการจำหน่ายสิทธิในการทำขึ้นหรือทำซ้ำ (Reproduction) ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ และสิทธิในการผลิตรูปหุ่นและ Character ที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์โดยใช้วัสดุใด ในรูปแบบใด ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า และรวมถึงสิทธิในการโอนสิทธิต่าง ๆ ให้แก่บุคคลที่ 3 อีกด้วย จำเลยที่ 1 มีสิทธิอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนได้ด้วย จำเลยที่ 1 มีสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนโดยได้รับโอนมาจากโจทก์ สัญญาโอนสิทธิในผลงานอุลตร้าแมนไม่รวมถึงสิทธิในผลงานในอนาคตที่โจทก์สร้างสรรรค์ขึ้นมาใหม่ และไม่ได้มีผลเป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดในการที่จะสร้างผลงานอุลตร้าแมนชุดใหม่ ๆ ขึ้นมา หรือพัฒนาปรับปรุง Character อุลตร้าแมนตัวใหม่ขึ้นอีก ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในผลงานที่โจทก์สร้างขึ้นใหม่ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม (Ultraman Millennium) และอุลตร้าแมนโซล (Ultraman Zoul) หรือดาร์คอุลตร้าแมน (Dark Ultraman) ต่อมาจำเลยที่ 3 นำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียมและดาร์คอุลตร้าแมนออกแสดงสดบนเวทีและเรียกเก็บเงินค่าชมในงานอุลตร้าแมน มิลเลนเนียม ไลฟ์ โชว์ อิน แบงคอก 2001 (Ultraman Millennium Live Show in Bangkok 2001) ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 12, 13, 14, 19, 20 และ 21 ตุลาคม 2544 ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการผู้มีอำนาจบริษัทจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนอีกตัวหนึ่งชื่อว่า อุลตร้าแมนเอลิท (Ultraman Elite) และจำเลยที่ 3 นำอุลตร้าแมนเอลิทออกแสดงสดบนเวทีร่วมกับอุลตร้าแมนมิลเลนเนียมและดาร์คอุลตร้าแมนและเรียกเก็บเงินค่าชมในงานอุลตร้าแมน ไลฟ์ โชว์ โฟร์ดี (Ultraman Live Show 4D) ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารอิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 23, 24, 25, 30 เมษายน และวันที่ 1, 2 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอุลตร้าแมนกับบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และอนุญาตให้บริษัทเอเพ็กซ์ ทอยส์ จำกัด ผลิตสินค้าอุลตร้าแมน ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2553 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 7457/2550 ปี 2545 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนต่อศาลแพ่งโตเกียวในประเทศญี่ปุ่น โดยศาลแพ่งโตเกียวได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์ต่อศาลสูงโตเกียว ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม 2546 ศาลสูงโตเกียวได้มีคำพิพากษา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่า คำฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องในคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกว่า ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 กับพวกกล่าวอ้างความเท็จว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานบริษัทไชโยฟิล์ม จำกัด กับบริษัทซึบูราญ่า โปรด์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยนายโนโบรุ ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2519 โดยมอบสิทธิให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวในการจำหน่าย ผลิต ทำซ้ำ มีสิทธิในลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิกระจายเสียงได้ในทุกอาณาเขต ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นในภาพยนตร์ เรื่อง ไจแอนท์กับจัมโบเอ (ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ) หนุมานพบเจ็ดยอดมนุษย์อุลตร้าแมน 1 (อุลตร้าแมน คิว) อุลตร้าแมน 2 อุลตร้าเซเว่น รีเทอร์นอุลตร้าแมน อุลตร้าแมนเอซ อุลตร้าแมนทาโร และจัมบอร์กเอซ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยอื่นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยร่วมกันทำซ้ำดัดแปลงรูปภาพหรือตัวงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ชนิดต่าง ๆ มาจัดทำสมุดภาพระบายสี ขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งสมุดภาพระบายสีที่ละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์โดยรู้ว่าเป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์เพื่อการค้าและหากำไร และเมื่อประมาณปลายปี 2539 จนถึงปัจจุบัน (ฟ้องวันที่ 16 ธันวาคม 2540) จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ได้รับสิทธิจากโจทก์ให้หยุดการผลิต จำหน่าย และให้ทำลายภาพหรือวัสดุที่มีรูปอุลตร้าแมน โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการชี้แจงกับบุคคลดังกล่าวและเสียหายขาดรายได้ ประมาณกลางปี 2539 จำเลยที่ 1 แอบอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในอุลตร้าแมน เอซ อุลตร้าแมน อุลตร้าเซเว่น อุลตร้าแมนทาโร อุลตร้าแมนซอฟฟี่ อุลตร้าแมนแจ็ค จัมโบเอหรือจัมบอร์กเอซ และได้ตั้งตัวแทนในการจัดหาผู้รับอนุญาตผลิตสินค้ารูปอุลตร้าแมนออกจำหน่าย ทำสัญญาให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบันทึกสำเนาภาพยนตร์เป็นวีดิทัศน์โดยนำไปแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า และแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ และขายสิทธิในตัวอุลตร้าแมนแก่บริษัทซีพี เซเว่น อีเลเว่น (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และประมวลกฎหมายอาญา และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกร่วมกันชำระค่าเสียหาย กระทำการและงดเว้นกระทำการ สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายปี 2542 จนถึงปลายปี 2544 จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซล โดยลอกเลียนดัดแปลงลักษณะพิเศษหรือคาร์แรกเตอร์ของอุลตร้าแมนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นภายหลังภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งเก้าเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีคดีพิพาทกันตามคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อวันที่ 12, 13, 14, 19 และ 20 ตุลาคม 2544 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมนออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยการนำออกแสดงสดบนเวทีและเรียกเก็บเงินค่าชมการแสดง เมื่อประมาณปลายปี 2544 สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน (ฟ้องวันที่ 7 ตุลาคม 2547) จำเลยทั้งสามร่วมกันอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยนำเอาตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียมไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ ที่ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิผลิตออกจำหน่ายเพื่อการค้าโดยได้รับค่าตอบแทน เมื่อประมาณปลายปี 2546 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แอบอ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือมีสิทธิในตัวละครต่าง ๆ เช่น อุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส ซึ่งเป็นผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2539 ปี 2540 ปี 2541 และปี 2544 ตามลำดับ และนำไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิเพื่อทำซ้ำหรือดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยนำเอาตัวอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส ไปใช้กับสินค้าต่าง ๆ ที่ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิผลิตออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเมื่อประมาณปี 2547 จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและกรรมการบริษัทจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 สร้างอุลตร้าแมนเอลิทโดยลอกเลียนดัดแปลงลักษณะพิเศษหรือคาร์แรกเตอร์ของอุลตร้าแมนที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 23, 24, 25, 30 เมษายน 2547 และวันที่ 1 และ 2 พฤษภาคม 2547 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำตัวละครอุลตร้าแมนเอลิท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยการนำออกแสดงสดบนเวทีร่วมกับอุลตร้าแมนมิลเลนเนียมและดาร์คอุลตร้าแมน และเรียกเก็บเงินค่าชมการแสดง ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นการที่โจทก์ฟ้องโดยกล่าวอ้างว่าเป็นการที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่างกรรมกันกับการทำละเมิดในคดีก่อนและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมไว้แล้ว ทั้งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว โดยที่โจทก์มิอาจยกขึ้นกล่าวอ้างหรือมีคำขอบังคับขณะยื่นฟ้องคดีก่อนได้ จึงมิใช่คำฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคำฟ้องในคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้อนที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อต่อมาว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนอันได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง อุลตร้าคิว (Ultra Q) ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2508 งานภาพยนตร์กับงานศิลปประยุกต์ในรูปตัวหุ่นในลักษณะเป็นรูปคล้ายคนชื่ออุลตร้าแมน (Ultraman) หรือยอดมนุษย์ ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2509 ต่อมาโจทก์ยังสร้างสรรค์งานวรรณกรรม และศิลปกรรมอันมีลักษณะเป็นงานประเภทจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ที่เป็นผลงานเรียกว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ในลักษณะที่เป็นรูปคนที่เป็นตัวละครประเภทต่าง ๆ ในตระกูลเดียวกันกับอุลตร้าแมน รวมตลอดถึงงานภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ รวมทั้งภาพเหมือน ภาพวาดและรูปถ่ายในลักษณะต่าง ๆ ของตระกูลอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งงานต่าง ๆ แต่ละประเภทเหล่านี้โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2508 ต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน และนำออกโฆษณาเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2509 และในปีอื่น ๆ ในประเทศญี่ปุ่นสืบเนื่องกันมา ดังนั้นงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมที่เป็นตัวงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ดังกล่าวจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นและได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เพราะประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทซึ่งตนเองร่วมก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตภาพยนตร์ สร้างตัวละครขึ้นโดยใช้ชื่อว่า อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม อุลตร้าแมนโซลหรือดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท โดยการลอกเลียนและดัดแปลงจากลักษณะพิเศษหรือคาแรกเตอร์ของตัวละครอุลตร้าแมนต่าง ๆ ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเข้าใจได้ว่าสภาพแห่งข้อหาคือจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงงานจิตรกรรม ภาพถ่าย ภาพพิมพ์อุลตร้าแมนอันเป็นงานศิลปกรรมและงานภาพยนตร์อุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ในชั้นพิจารณาโจทก์มีนายมนู ทนายโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เรียกว่า อุลตร้าแมน ซึ่งเป็นงานประเภทวรรณกรรมและศิลปกรรม (ประเภทจิตรกรรม) โจทก์เริ่มสร้างสรรค์งานภาพยนตร์ที่เรียกว่า อุลตร้าคิว ตั้งแต่ปี 2508 หลังจากนั้นปี 2509 ก็สร้างสรรค์งานภาพยนตร์ชื่ออุลตร้าแมน จากนั้นได้สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนเป็นชุด ๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานอุลตร้าแมน รายละเอียดการสร้างสรรค์ และการโฆษณางานครั้งแรก ปรากฏตามเอกสารแสดงรายละเอียดรายการทีวีและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุลตร้าแมนซึ่ง บริษัทซึบูราญ่าโปรดัคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ผลิต (Ultraman Related Television Programs and Theatrical Films produced by Tsuburaya Productions Co., Ltd.) การทำละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์มี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จำเลยลอกเลียนแบบอุลตร้าแมนของโจทก์ โดยโจทก์ถือว่าโจทก์ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน ขอบเขตของสัญญาพิพาท จำเลยต้องทำซ้ำในลักษณะตัวละครเดิมในภาพยนตร์ 9 เรื่อง ตามสัญญาดังกล่าว ไม่มีสิทธิไปสร้างตัวใหม่หรือลอกเลียนตัวใหม่ อุลตร้าแมนที่โจทก์ถือว่าจำเลยทำซ้ำคือ อุลตร้าแมนมิลเลนเนียมดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท โดยลอกเลียนแบบมาจากอุลตร้าแมนของโจทก์ตัวเก่า ๆ และนำลักษณะตัวใหม่ ๆ ที่โจทก์สร้างสรรค์มารวมอยู่ด้วย ส่วนที่ 2 คือจำเลยนำอุลตร้าแมนตัวใหม่ ๆ ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นและมีลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวได้แก่ อุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอสไปทำซ้ำ และอนุญาตให้ลูกค้านำไปผลิตสินค้าและนำไปเผยแพร่โดยจำเลยได้ประโยชน์ตอบแทน และโจทก์มีนายสมชาติ ผู้เขียนบทความในคอลัมน์ “Heroes Memorial” ในหนังสือ “Hobby Toys Model” โดยใช้นามปากกาว่า “Devil ex” มาเบิกความเป็นพยานว่า อุลตร้าแมนมีลักษณะเป็นตัวสีเงินหรือสีแดง มีปากแต่ไม่สามารถขยับหรือพูดได้ มีสันอยู่บริเวณกลางหน้าผาก และมีปุ่มอยู่บริเวณกลางหน้าอกเรียกว่า “Color Timer” บริเวณมือมีลักษณะเหมือนกับสวมถุงมือไว้ บริเวณเท้ามีลักษณะเหมือนสวมรองเท้าบู๊ต แต่ละตัวมีลักษณะและสีสันต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่โดยส่วนใหญ่ลำตัวจะมีสีเงินหรือสีแดง แต่ในระยะหลังมีลวดลายสีอื่นอยู่ด้วย เช่น สีม่วง สีฟ้า หรือสีดำ ดวงตาส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลือง มีเฉพาะอุลตร้าแมนเพาเวอร์เท่านั้นที่ดวงตาเป็นสีฟ้า และอุลตร้าแมนคิงที่เป็นสีแดง ลักษณะอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทที่จำเลยที่ 1 สร้างสรรค์ขึ้นปรากฏตามภาพอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท โดยอุลตร้าแมนทั้งสามตัวมีลักษณะแตกต่างจากอุลตร้าแมนตัวแรก แต่มีแนวคิดในการสร้างทำนองเดียวกันอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม คล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนเพาเวอร์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นในปี 2536 อย่างยิ่ง กล่าวคือ จะมีกล้ามเนื้อปรากฏชัดเจน มีดวงตาสีฟ้าเหมือนกัน และมีปุ่ม “Color Timer” ที่คล้ายคลึงกันมากโดยปุ่ม “Color Timer” มีลักษณะเป็นแฉกแตกต่างจากอุลตร้าแมนตัวอื่นตามภาพเปรียบเทียบ ดาร์คอุลตร้าแมน มีลักษณะคล้ายกับอุลตร้าแมนคิงเนื่องจากมีดวงตาสีแดงเหมือนกัน อุลตร้าแมนคิงปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนเลโอที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นในปี 2518 ซึ่งภาพยนตร์ชุดอุลตร้าแมนเลโอไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ปรากฏรายชื่ออยู่ในสัญญาพิพาท ส่วนอุลตร้าแมนเอลิทมีลักษณะเหมือนอุลตร้าแมนคอสมอสที่อยู่ในร่างที่เรียกว่า สเปซโคโรน่าโหมด ซึ่งภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนคอสมอสได้นำออกฉายเมื่อปี 2545 ลักษณะดวงตาของอุลตร้าแมนเอลิทมีสีฟ้าเหมือนอุลตร้าแมนเพาเวอร์ บริเวณส่วนหัวมีลักษณะเป็นริ้วคล้ายกับอุลตร้าแมนรุ่นใหม่คืออุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนไดน่า เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 บัญญัติว่า (1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และงานภาพยนตร์ หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วยถ้ามี เมื่อพิจารณาลักษณะของการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท เพื่อนำไปอนุญาตให้บุคคลอื่นผลิตตัวหุ่นและของเล่น หรือใช้กับฉลากสินค้าต่าง ๆ หรือจัดทำเป็นชุดหุ่นที่ใช้ในการแสดงบนเวทีแล้วมีเหตุผลให้เชื่อว่าการจัดทำอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามจนทำให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะตามคำฟ้องได้ต้องอาศัยรายละเอียดจากภาพวาดดังเช่นภาพวาดที่ปรากฏในเอกสารแสดง แผ่นที่ 13/128 ถึงแผ่นที่ 13/142 ดังนั้น การจัดทำอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานจิตรกรรมอันได้แก่ ภาพวาดที่แสดงลักษณะของอุลตร้าแมนซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของผลงานอุลตร้าแมนที่โจทก์ได้ออกแบบหรือสร้างสรรค์ก่อนที่โจทก์จะนำงานจิตรกรรมดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์อุลตร้าแมน เมื่อเปรียบเทียบตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิท ของจำเลยทั้งสามกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อนแล้วจะเห็นได้ว่าอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามมีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์มาก่อนตามที่นายสมชาติพยานโจทก์เบิกความจริง และความคล้ายคลึงกันดังกล่าวเป็นความคล้ายคลึงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าอุลตร้าแมนที่จำเลยทั้งสามสร้างขึ้นเป็นอุลตร้าแมนที่ปรากฏในภาพยนตร์อุลตร้าแมนจนมีบุคคลที่สามมาขออนุญาตใช้สิทธิในอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามหรือทำให้จำเลยทั้งสามสามารถนำไปจัดแสดงบนเวทีได้โดยใช้ชื่องานว่าอุลตร้าแมน ไลฟ์โชว์ (Ultraman Live Show) ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามดัดแปลงงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในคาแรกเตอร์อุลตร้าแมน เนื่องจากเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนร่วมกับโจทก์และเป็นผู้รับโอนสิทธิในสัญญาพิพาท คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่นมาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสัญญา เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งแตกต่างไปจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ก่อนว่าเป็นสัญญาโอนสิทธิเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิตามสัญญาพิพาทดังกล่าวจากโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนร่วมกับโจทก์ และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันคู่ความแห่งคดีและยังมิได้เปลี่ยนแปลงโดยศาลสูง จำเลยที่ 1 จึงย่อมมีสิทธิสร้างอุลตร้าแมนตัวใหม่โดยดัดแปลง พัฒนา หรือปรับปรุงจากคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนที่จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิตามสัญญาจากโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม จำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเฉพาะผลงานภาพยนตร์ 9 เรื่อง ตามที่ระบุในสัญญาพิพาทเท่านั้น ส่วนภาพยนตร์ตอนใหม่ ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ดังนั้น เมื่ออุลตร้าแมนเพาเวอร์ อุลตร้าแมนคิง อุลตร้าแมนทิก้า และอุลตร้าแมนคอสมอส เป็นผลงานจากภาพยนตร์ตอนใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ในสัญญาพิพาท ประกอบกับจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์โต้แย้งในประเด็นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 สร้างตัวละครอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทโดยดัดแปลงจากผลงานอุลตร้าแมนอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์และไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ว่าทำการสร้างสรรค์อุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทไปโดยชอบ อีกทั้งภายหลังศาลฎีกาพิพากษาว่า สัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอมตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550 จำเลยทั้งสามยิ่งไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในผลงานอุลตร้าแมนได้อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปว่า โจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีหมายเลขแดงที่ อ.459/2543 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน สัญญาพิพาทเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาอาจมีสิทธิที่จะแสวงหาประโยชน์ใด ๆ จากผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7457/2550 คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ประโยชน์อันเกิดแต่ลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมน การที่โจทก์และตัวแทนการค้าของโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนตามสัญญาพิพาท ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนและแต่งตั้งบริษัทโพรลิงค์ จำกัด ให้เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทย จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามฟ้องแย้งได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนแก่โจทก์จำนวน 5,000,000 บาท นั้น จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับผลกระทบถึงภาพพจน์และการขาดเอกภาพของผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความนิยมในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ อุลตร้าแมนทั้งสามตัวที่จำเลยทั้งสามสร้างสรรค์ขึ้นมีคุณสมบัติและความเหมาะสมอันดีงามและสร้างชื่อเสียงโดยได้รับความนิยมอย่างมาก หาได้มีผลกระทบถึงภาพพจน์ การขาดเอกภาพ และชื่อเสียงในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ไม่ ส่วนโจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์จำนวน 50,000,000 บาท ตามคำฟ้อง เห็นว่า ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายในธรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้สร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ และเมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร” เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยพยานหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามสร้างอุลตร้าแมนมิลเลนเนียม ดาร์คอุลตร้าแมน และอุลตร้าแมนเอลิทโดยบิดเบือนดัดแปลงผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ในลักษณะใดจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นโจทก์ประสงค์ให้ตัวละครอุลตร้าแมนเป็นภาพลักษณ์ของฝ่ายคุณธรรมโดยเป็นผู้พิทักษ์โลกขจัดพวกเหล่าร้ายที่มาสร้างความเดือดร้อนและความไม่สงบสุขแก่มวลมนุษย์พร้อมทั้งคืนความสงบสุขให้แก่มนุษย์โลก ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสามดัดแปลงโดยสร้างตัวอุลตร้าแมนให้มีลายเส้นเน้นให้เห็นกล้ามเนื้อที่บริเวณผิวแตกต่างจากอุลตร้าแมนของโจทก์ซึ่งไม่ใช้ลายเส้นเน้นกล้ามเนื้อ และมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยที่แตกต่างจากเดิมเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่แสดงออกของตัวอุลตร้าแมนออกมาอีกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หาได้ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวอุลตร้าแมน ผู้ทรงคุณธรรมพิทักษ์โลกเสียไปแต่อย่างใดไม่ การดัดแปลงตัวอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามก็ยังคงภาพลักษณ์ของอุลตร้าแมนผู้ทรงคุณธรรมพิทักษ์โลกไว้เช่นเดิม การดัดแปลงตัวอุลตร้าแมนของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงมิใช่การบิดเบือนดัดแปลงผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมน การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิในธรรมสิทธิ์ของโจทก์ผู้สร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์ จำนวน 5,000,000 บาท นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนของค่าเสียหายกรณีที่ 3 ซึ่งเป็นค่าเสียหายกรณีที่เกี่ยวกับอุลตร้าแมนตัวอื่น ที่โจทก์สร้างสรรค์นอกเหนือจากอุลตร้าแมนในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ในสัญญาพิพาท โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท นั้นต่ำเกินไป สมควรกำหนดค่าเสียหายจำนวน 50,000,000 บาท และจำนวนเดือนละ 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะหยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ เห็นว่า ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจำนวน 3 ฉบับคือ (1) หนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิ ระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทฟอร์เวิร์ด ฟรีแลนด์ จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปประยุกต์ตุ๊กตาอุลตร้าแมนทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส (2) หนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทไซก้า เอ็นเตอร์ เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิในการผลิตและจำหน่ายดีวีดี และวีซีดีภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนนีโอส์จำนวน 12 แผ่น อุลตร้าเซเว่น 21 จำนวน 5 แผ่น และอุลตร้าแมนเน็กซัสจำนวน 39 ตอน และ (3) หนังสือสัญญาอนุญาต ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทการ์ตูนอินเตอร์ จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิในการจัดทำวีดิทัศน์ภาพยนตร์อุลตร้าแมนจำนวน 10 เรื่อง รวมทั้งวีดิทัศน์อุลตร้าแมนคอสมอส เมื่อพิจารณาค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทั้งสามฉบับดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 818,584 บาท และจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 3,360,000 บาท กับจำนวน 3,500,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าตอบแทนทั้งสิ้น 7,678,584 บาท ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้จำนวน 10,000,000 บาท จึงเกินกว่าประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ ประกอบกับในรายของบริษัทการ์ตูนอินเตอร์ จำกัด เมื่อเปรียบเทียบรายชื่อภาพยนตร์ตามหนังสือสัญญาอนุญาต แผ่นที่ 60/25 ถึงแผ่นที่ 60/29 กับรายการทีวีและภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับอุลตร้าแมนซึ่งบริษัทซึบูราญ่าโปรดัคชั่นส์ จำกัด เป็นผู้ผลิต มีภาพยนตร์จำนวนเพียง 3 เรื่อง คือเรื่องอุลตร้าแมนคอสมอส เดอะ ไฟนอล แบตเทิล เรื่องอุลตร้าแมนคอสมอส : เฟิร์สคอนแทค และเรื่องอุลตร้าแมนคอสมอส : เดอะบลูแพลนเน็ต ภาคพิเศษ เท่านั้น ที่โจทก์อ้างส่งหลักฐานการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากนี้จำนวนค่าตอบแทนที่ระบุในหนังสืออนุญาตให้ใช้สิทธิที่โจทก์อ้างดังกล่าวเป็นเรื่องข้อตกลงกันเองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่ใช่ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์พึงได้หากนำผลงานอุลตร้าแมนอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้สิทธิ และโจทก์ไม่ได้นำสืบพิสูจน์ว่าหากโจทก์นำผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิ โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์รวม 5,000,000 บาท
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยทั้งสามยังคงละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยนำผลงานอุลตร้าแมน ทิก้า อุลตร้าแมนไดน่า อุลตร้าแมนไกญ่า และอุลตร้าแมนคอสมอส ที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นไปอนุญาตให้บุคคลอื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนนับถัดจากวันฟ้องอีกจำนวนเดือนละ 20,000,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสามจะหยุดกระทำการละเมิดและมีการหยุดจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ว่าจำเลยทั้งสามยังคงอนุญาตให้บุคคลอื่นนำอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ไปให้บุคคลอื่นใช้สิทธิต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่โจทก์อ้างลอย ๆ เพียงว่าบริษัทเมจิก ทู จำกัด บริษัทเอบีซี ทอยส์ จำกัด บริษัทอาซาโน จำกัด และบริษัทบีบูน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยังผลิตสินค้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดของโจทก์ที่สนับสนุนว่า เป็นเช่นนั้นจริง จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายรายเดือนให้แก่โจทก์ได้ ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 10,000,000 บาท ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ค่าเสียหายกรณีนี้เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งโจทก์ฟ้องและบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์และจำเลยทั้งสามไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยร่วม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 7 ตุลาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยร่วม และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำฟ้องโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก

Share