คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยอยู่ก่อนแล้วให้แก่โจทก์ มิใช่เรื่องที่โจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมา จึงไม่อาจนำมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาใช้บังคับได้ ส่วนที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหลักประกันอื่นที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้อง ช. และจำเลยกับพวกเป็นคดีล้มละลายไว้แล้ว ก็มีผลเพียงให้โจทก์เข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีล้มละลายแทนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคสอง มิใช่เหตุที่จะนำมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาบังคับได้เช่นกัน
การที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้องขับไล่ ช. โดยผลของ มาตรา 142 (1) แห่ง ป.วิ.พ. คำพิพากษาที่ให้ขับไล่ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของ ช. ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้เท่านั้น แต่หาได้ทำให้วงศ์ญาติและบริวารที่อาจถูกบังคับตามคำพิพากษานั้นมีฐานะเป็นคู่ความไปด้วยไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษ จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดี ทั้งการที่จำเลยรับมอบอำนาจจาก ช. ให้เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีฐานะกลายเป็นคู่ความในคดีไปได้ เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน และในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อสิทธิของเจ้าของหรือไม่อย่างไร การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์และห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเสียหายค่าขาดประโยชน์นับแต่วันที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,102,237.64 บาท และนับถัดจากวันฟ้องอีกวันละ 4,076.53 บาท จนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบการครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5856 และ 5857 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5856 และ 5857 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นอาคารหลายหลัง เดิมเป็นของนายชูวิทย์ ซึ่งจำนองไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมา ปี 2548 มีการจำหน่ายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโดยปลอดจำนองตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ปี 2550 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชูวิทย์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้บังคับนายชูวิทย์ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีดังกล่าวบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกับนายชูวิทย์ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยนายชูวิทย์ยอมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความหากผิดนัดยอมให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยบังคับคดีได้พร้อมค่าเสียหายเต็มจำนวนตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1642/2551 ตามคำฟ้อง คำให้การ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ออกใช้บังคับ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนสิทธิเรียกร้องในคดีที่ฟ้องนายชูวิทย์และจำเลยกับพวกรวม 5 คน ไว้แล้วตามคดีหมายเลขดำที่ ล.6634/2552 ของศาลล้มละลายกลางให้แก่โจทก์ และต่อมาได้โอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 และหนังสือสัญญาขายที่ดินรวมสองโฉนดตามลำดับ จำเลยเป็นบุตรของนายชูวิทย์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายชูวิทย์ให้เป็นผู้ดำเนินคดีแทนในคดีหมายเลขแดงที่ 1642/2551 ของศาลชั้นต้น จำเลยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตลอดมา โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1642/2551 ของศาลชั้นต้น ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ซื้อและได้กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้ขาย โดยขณะขาย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นการขายกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ให้แก่โจทก์ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นดังที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 แต่อย่างใด จึงไม่อาจนำมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่คดีในกรณีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยในคดีหมายเลขแดงที่ 1642/2551 ของศาลชั้นต้น โดยผลของมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้อยู่แล้วจึงไม่ถูกต้อง ส่วนการที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องรวมทั้งหลักประกันอื่นที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้องนายชูวิทย์และจำเลยกับพวกเป็นคดีล้มละลายไว้แล้ว ก็มีผลเพียงให้โจทก์เข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีล้มละลายแทนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่เหตุที่จะนำมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาบังคับแก่คดีนี้ดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างมาในคำแก้ฎีกาได้เช่นกัน การที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฟ้องขับไล่นายชูวิทย์ โดยผลของมาตรา 142 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาที่ให้ขับไล่ย่อมมีผลใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของนายชูวิทย์ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้เท่านั้น แต่หาได้ทำให้วงศ์ญาติและบริวารที่อาจถูกบังคับตามคำพิพากษานั้นมีฐานะ เป็นคู่ความไปด้วยไม่เพราะมิใช่เป็นบุคคลผู้ถูกฟ้องต่อศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดี ทั้งการที่จำเลยรับมอบอำนาจจากนายชูวิทย์ให้เป็นผู้ดำเนินคดีแทนก็ไม่ทำให้จำเลยกลับมีฐานะกลายเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวไปได้ ดังนั้น แม้โจทก์เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยและถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่อยู่ในฐานะเดียวกันกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน และในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้โดยไม่เป็นละเมิดต่อสิทธิของเจ้าของหรือไม่อย่างไร การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share