คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7064/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญาประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 กำหนดให้ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดต่อเมื่อเป็นวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อ ฉ. ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าว การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 จ-กรุงเทพมหานคร ขอให้ร่วมรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ค้นที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าใครเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยและมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันนี้มีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับ ฉ. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องหาได้ไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการทำละเมิดจำนวน 172,984.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 167,743 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา ศาลมีคำสั่งเรียกบริษัทนิวอินเดีย แอสชัวรันซ์ จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 172,984.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้น 167,743 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 จ – 1722 กรุงเทพมหานคร โดยนายฉัตรา ผลพันชิน เป็นผู้เอาประกันภัย ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.14 จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวด้วยความประมาท ฝ่าสัญญาไฟจราจรสีแดง เป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ศ – 1148 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 167,743 บาท โจทก์ได้ชำระค่าซ่อมจำนวนดังกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยรถคันดังกล่าวแล้วตามสัญญาประกันภัย โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เป็นการประกันความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ในเมื่อผู้เอาประกันภัยขับหรือยินยอมให้ผู้อื่นขับ การประกันภัยค้ำจุนจึงมุ่งที่ตัวบุคคลผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุเป็นสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคลผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.14 ซึ่งมีเงื่อนไขแนบท้ายกรมธรรม์ดังกล่าวข้อ 2.6 ที่ระบุว่า “บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย” เห็นว่า คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 จ – 1722 กรุงเทพมหานคร ขอให้ร่วมรับผิดในผลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยประมาทชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย เช่นนี้ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็คือ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 นั่นเอง แต่ตามมาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้อาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” แสดงว่าผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดต่อเมื่อเป็นวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อนายฉัตราผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าว แต่โจทก์หาได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าใครเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยและมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันนี้มีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับนายฉัตราผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด และศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share