แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจะพิจารณาในขณะยื่นฟ้องเป็นสำคัญ และการที่บริษัทเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติให้ถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป รวมทั้งมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามบริษัทในคดีพิพาทตามมาตรา 1250, 1259 (1) นอกจากนี้มาตรา 1272 ยังให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทเป็นหนี้อยู่ได้ แม้การชำระบัญชีจะสิ้นสุดไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า ระหว่างพิจารณาโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่มีผลให้อำนาจฟ้องที่โจทก์มีอยู่แล้วในขณะยื่นฟ้องสิ้นไปแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,172,367.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,240,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 4,302,345 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,818,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,120,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 และต้นเงิน 3,120,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2538) ต้องไม่เกิน 932,367.13 บาท ตามโจทก์ขอ กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นฟ้องเดิมและฟ้องแย้งแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,704,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 584,000 บาท นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2536 และของเงินจำนวน 3,120,000 บาท นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยส่วนที่คำนวณนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 31 พฤษภาคม 2538) ต้องไม่เกิน 932,367.13 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์รวมเป็นเงิน 10,000 บาทแทนโจทก์
โจทก์ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 จึงหมดสภาพการเป็นนิติบุคคลตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีได้ ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้อง เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ประกอบกับปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลจะพิจารณาในขณะยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญและการที่บริษัทเลิกกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติให้ถือว่ายังคงต้องอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไป รวมทั้งมีอำนาจแก้ต่างว่าต่างในนามบริษัทในคดีพิพาทตามมาตรา 1250,1259 (1) นอกจากนี้มาตรา 1272 ยังให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทเป็นหนี้อยู่ได้ แม้การชำระบัญชีจะสิ้นสุดไปแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าระหว่างพิจารณาโจทก์จดทะเบียนเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จึงไม่มีผลให้อำนาจฟ้องที่โจทก์มีอยู่แล้วในขณะยื่นฟ้องสิ้นไปแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยถือว่าเป็นข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า บทบัญญัติตามมาตรา 1272 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบังคับที่ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จะนำบทบัญญัติดังกล่าวไปบังคับใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีได้เหมือนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท