แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 กำหนดเวลาจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 ว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่องการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงกันของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) ไม่ จึงถือว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158)
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน และมีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จึงให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือที่ ค 21-00000722-25510604-01-002118 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2551 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ กค 0706.03/5787 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2551 และให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 1,131,514.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือที่ ค. 21-00000722-25510604-01-002118 (ที่ถูก เฉพาะส่วนเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ที่ถูก หนังสือ) ที่ กค 0706.03/5787 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2551 โดยให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,131,514.42 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 กันยายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ข้อ 1 (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) ไม่ จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามความในข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง แม้ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และมีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงพิพากษาให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยทั้งหมดต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ