คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปโภคและบริโภค รวมทั้งให้ยืมเงินแก่ ผ. จำเลยและลูกค้าของโจทก์รายอื่น ๆ อีกหลายรายที่ประกอบอาชีพทำนาที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคโดยโจทก์ให้เครดิตสินเชื่อสินค้าและเงินยืมของแก่ลูกค้า มีบัญชีบันทึกหนี้สินกันไว้เป็นหลักฐานโดยโจทก์หวังผลประโยชน์ตอบแทนปรากฏว่า ผ. ยังค้างชำระหนี้อยู่จึงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยกับยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินในปีต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในทางการค้าไม่ใช่การคิดดอกเบี้ย
ผ. ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์เป็นการแปลงหนี้เดิมที่ค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืม ผ. ไม่ยอมชำระหนี้จึงตกเป็นผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาของ ผ. และจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ผ. จึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามมาตรา 1599 ประกอบด้วยมาตรา 1629,1635(1) และมาตรา 1737

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยานายผวน อยู่จุ้ย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายผวนจำเลยทั้งสองจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายผวน เมื่อระหว่างปี 2528 ถึง 2536 นายผวนและจำเลยทั้งสองร่วมกันกู้ยืมเงินทำนา ซื้อสินค้าเชื่อเป็นสินค้าเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคจากโจทก์ แล้วนำข้าวเปลือกมาขายชำระหนี้ให้โจทก์ โดยมีการหักทอนบัญชีทุกปี หากชำระไม่ครบก็ยกยอดหนี้ไปในปีถัดไปเรื่อยมา ซึ่งมีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2536 ปรากฏว่านายผวนและจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 250,000 บาท นายผวนจึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน 250,000 บาทไว้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์2537 และนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 333 ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เนื้อที่ 3 งาน 21 ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างมอบให้โจทก์ยึดเป็นประกัน เมื่อถึงกำหนดนายผวนผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ ต่อมาวันที่6 กรกฎาคม 2537 นายผวนถึงแก่ความตาย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายผวนแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 250,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2536 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา1 ปี 8 เดือน เป็นดอกเบี้ย 62,500 บาท เมื่อรวมกับต้นเงิน 250,000 บาท แล้ว รวมเป็นเงิน 312,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายผวนชำระเงิน 312,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในปี 2528 ถึง 2530 นายผวน อยู่จุ้ย ได้กู้ยืมเงินทำนาซื้อสินค้าเชื่อจากโจทก์ ปีละประมาณ 10,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนและนายผวนนำข้าวเปลือกชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนทุกปี พอปี 2536 นายผวนคิดบัญชีหนี้สินกับโจทก์แล้วโจทก์แจ้งว่านายผวนเป็นหนี้โจทก์อีก 40,000 บาท ซึ่งนายผวนเห็นว่าโจทก์คิดบัญชีหนี้สินเกินความจริงจึงงดกู้ยืมเงินและซื้อเชื่อจากโจทก์นับแต่นั้น ทำให้ไม่มีหนี้สินที่จะแปลงหนี้ใหม่ตามสัญญากู้ยืมเงิน นายผวนไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์ร่วมกับผู้มีชื่อทำปลอมขึ้น ลายมือชื่อของผู้กู้ในสัญญามิใช่ลายมือชื่อของนายผวน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของนายผวน อยู่จุ้ยชำระเงิน 30,777 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2536จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายในกำหนดอายุความ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.10 ให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์และนายสุพัฒน์ สุนทราจารย์ บุตรโจทก์ผู้เขียนและพยานในสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.10 มาเบิกความยืนยันว่าโจทก์รู้จักคุ้นเคยกับนายผวนอยู่จุ้ย และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยานายผวน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 และนายผวนซึ่งทำการสมรสกันก่อนปี 2477 เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปโภคและบริโภค นายผวนและจำเลยที่ 1 รวมทั้งบุคคลในครอบครัวนายผวนเป็นลูกค้าของโจทก์มาเป็นเวลานับสิบปี โดยเป็นลูกค้าซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคไปจากโจทก์รวมทั้งได้ขอยืมเงินจากโจทก์ไปทำกินในการดำรงชีวิตและลงทุนทำนา ซึ่งในแต่ละปีนายผวนและจำเลยทั้งสองได้ยืมเงินไปจากโจทก์เพื่อลงทุนทำนาหลายครั้ง ในการยืมแต่ละครั้งโจทก์มีสมุดบัญชีจดบันทึกช่วยจำลงรายการไว้ในบัญชี ส่วนสิ่งของที่เป็นสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคเมื่อซื้อแล้วเป็นการซื้อเงินเชื่อโจทก์ก็จะลงรายการไว้ในบัญชีส่วนการชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งนายผวนและจำเลยทั้งสองจะนำข้าวเปลือกมาขายตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์แล้วจะทำการหักทอนบัญชีกันเป็นการชำระหนี้กันทุกปี หากปีไหนชำระหนี้ไม่ครบถ้วนโจทก์ก็จะยกยอดเป็นหนี้ค้างชำระในปีถัดไป เมื่อคิดคำนวณยอดหนี้ที่นายผวนและจำเลยทั้งสองมีหนี้ผูกพันกันมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2536 โดยคิดคำนวณถึงวันที่ 15 ตุลาคม2536 ปรากฏว่ามียอดหนี้คงค้างชำระอยู่ 250,183 บาท โจทก์ยอมลดหนี้ให้ 183 บาทคงมีหนี้ที่ค้างชำระอยู่ 250,000 บาท โจทก์และนายผวนตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้เป็นหลักฐานโดยมีนายสุพัฒน์ สุนทราจารย์ บุตรโจทก์เป็นผู้เขียนสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวโดยระบุว่านายผวนได้กู้เงินไปจากโจทก์ 250,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี กำหนดชำระให้เสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 เพื่อเป็นหลักประกันนายผวนได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 333 ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเมื่อเขียนสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วอ่านให้นายผวนฟังแล้วนายผวนลงชื่อไว้ในช่องผู้กู้ ส่วนโจทก์ลงชื่อในช่องผู้ให้กู้นายสุพัฒน์ลงชื่อเป็นผู้เขียนและพยาน ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.10 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.11 นับแต่วันที่นายผวนได้ทำสัญญากู้เงินแล้ว นายผวนไม่เคยนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์เลย ครั้นเมื่อถึงกำหนดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งครบกำหนดเวลาตามสัญญากู้ยืมเงินนายผวนก็ไม่นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ โจทก์จึงถือว่านายผวนผิดสัญญาโจทก์ทวงถามหลายครั้ง นายผวนก็ผัดผ่อนและได้ไปติดต่อปลัดอำเภอที่อำเภอตาคลีเพื่อขอให้ปลัดอำเภอติดต่อขอเงินหลวงของทางราชการมาช่วยปลดหนี้ให้ ทางราชการอำเภอตาคลีได้สอบสวนปากคำโจทก์และนายผวนแล้วเห็นว่ามีหนี้สินมากจึงแนะนำให้นายผวนโอนที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน และยังแนะนำให้นายผวนไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรแล้วนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้แก่โจทก์แต่นายผวนก็ไม่ได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จนกระทั่งนายผวนได้ถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ตามสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.12 เมื่อนายผวนถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองเป็นทายาทต้องรับผิดชดใช้หนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทแล้วจำเลยทั้งสองขอผัดผ่อนและไม่ยอมชำระหนี้ให้ โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 15 ตุลาคม2536 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 62,500 บาทเมื่อรวมกับต้นเงินแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 312,500 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ไม่สืบพยานส่วนจำเลยที่ 2 มีนางบุญนาค อยู่จุ้ย บุตรจำเลยที่ 1 และนายผวนนายจำปี อยู่จุ้ย น้องชายจำเลยที่ 2 มาเบิกความยืนยันว่า ทั้งนางบุญนาคและนายจำปีเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บิดามารดาของพยานทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายและมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 8 คน บุคคลในครอบครัวของพยานเป็นหนี้โจทก์ตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2527 หนี้ดังกล่าวเกี่ยวกับค่าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องเกษตรกรรมและบางครั้งก็ได้ยืมเงินมาใช้ในการเกี่ยวข้าวโดยตกลงกันว่าเมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ไปตีราคาใช้หนี้โดยชำระกันทุกปี เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่นำสืบมาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบโต้แย้งกันอยู่ แต่เมื่อพิจารณาเอกสารสมุดบัญชีที่บันทึกช่วยจำที่โจทก์ทำขึ้นแล้วให้นายผวนจำเลยทั้งสองและบุคคลในครอบครัวนายผวนเซ็นชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับรู้ในการซื้อสินค้าเงินเชื่อไปจากโจทก์ทั้งนี้เพราะโจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปโภคและบริโภค รวมทั้งสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งให้ยืมเงินแก่ลูกค้าของโจทก์รายอื่น ๆ อีกหลายรายที่ประกอบอาชีพทำนาในระหว่างผลผลิตจากการทำนายังไม่ได้เก็บเกี่ยวมีความจำเป็นต้องกินต้องใช้เครื่องอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตอยู่ โจทก์จึงให้เครดิตสินเชื่อสินค้าและเงินยืมของโจทก์ให้แก่ลูกค้า มีบัญชีบันทึกหนี้สินกันไว้เป็นหลักฐานเป็นการช่วยจำและช่วยเหลือจุนเจือกันโดยโจทก์ก็หวังผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้ประพฤติปฏิบัติต่อกันและหวังผลจากนายผวนและจำเลยทั้งสองที่ต้องนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้มาตีใช้หนี้โดยขายให้แก่โจทก์ตามราคาท้องตลาดหักทอนบัญชีกันปรากฏว่าฝ่ายนายผวนยังค้างชำระหนี้อยู่ จึงยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยกับยอดหนี้ดังกล่าวเป็นต้นเงินในปีต่อไปได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในทางการค้า ไม่ใช่การคิดดอกเบี้ยแต่อย่างใด ครั้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2536 นายผวนได้ยอมทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวนเงิน 250,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า การที่นายผวนยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ และมีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนายผวนในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.10 ในช่องผู้กู้แล้วผู้เชี่ยวชาญจากกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ในขณะนั้นลงความเห็นว่าเป็นลายเซ็นของนายผวนจริง นอกจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แวดล้อมกรณีในการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และนายผวนแล้วปรากฏหลักฐานทางอำเภอตาคลีว่านายผวนไปขอให้ทางอำเภอติดต่อขอเงินหลวงมาช่วยปลดหนี้ให้ ทางอำเภอตาคลีสอบสวนปากคำคู่กรณีแล้วได้ความว่านายผวนมีหนี้สินมากจึงแนะนำให้นายผวนโอนที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน และได้แนะนำให้นายผวนไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรโดยนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่นายผวนก็ยังไม่ได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนกระทั่งนายผวนได้ถึงแก่ความตายไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2537 ตามสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.12 จากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาชี้ชัดให้เห็นว่า นายผวนยอมรับว่าเป็นหนี้ที่ค้างชำระโจทก์อยู่จริง จึงยอมทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งเป็นการแปลงหนี้เดิมค้างชำระกันอยู่มาเป็นหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน หนี้เดิมย่อมระงับสิ้นไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานจำเลยที่ 2 จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์นำสืบมาว่านายผวนได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.10 ให้ไว้แก่โจทก์จริงเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วนายผวนผิดสัญญาไม่ยอมชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ย่อมได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัด จึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์จนครบ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่นายผวนถึงแก่ความตายไปแล้วตามสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายผวนในฐานะคู่สมรส ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายผวนจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.10 ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ประกอบด้วย มาตรา 1629 มาตรา 1635(1) และมาตรา 1777 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายผวนผู้ตายร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 5 กรกฎาคม 2538) ต้องไม่เกิน 62,500 บาท ทั้งนี้ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่จำเลยทั้งสอง

Share