คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9036-9262/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอุทธรณ์ว่า การเลิกจ้างพนักงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเพราะจำเลยได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้ระงับการดำเนินกิจการเป็นการถาวร เมื่อจำเลยถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการแล้วก็ไม่มีเหตุจำต้องจ้างพนักงานทั้งหมด หากจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตเหตุใดเมื่อเลิกจ้างพนักงานแล้วจึงไม่จ้างพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานทั้งหมด แต่จำเลยเลือกจ้างเพียงบางตำแหน่งเพื่อให้เข้ามาจัดการส่งมอบงานให้แก่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำตามคำสั่งของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จึงเป็นการเลิกจ้างโดยสุจริต คดีนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ด ก่อนถึงวันจ่ายค่าจ้างและเงินโบนัสเพียง 1 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัส ในวันเดียวกันนั้นเองหลังจากเลิกจ้างแล้วจำเลยยังว่าจ้างพนักงานรวมทั้งโจทก์บางคนกลับเข้าทำงานอีก พฤติการณ์และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดโดยไม่สุจริต อุทธรณ์จำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดเป็นนโยบายเอาไว้ว่าจะจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานภายในสิ้นปีของทุก ๆ ปีเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน ทั้งนี้พนักงานจะต้องมีสภาพเป็นพนักงานอยู่จนถึงวันจ่ายเงินโบนัส โดยระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยฉบับนี้มิได้มีเงื่อนไขระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานต่อเมื่อจำเลยดำเนินกิจการมีกำไร ดังนี้ การจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวจึงหมายถึงจำเลยตกลงจ่ายเงินแก่พนักงานเพื่อเป็นรางวัลหรือความดีความชอบที่พนักงานนั้น ๆ อยู่ทำงานกับจำเลยจนถึงวันจ่ายเงินโบนัส

ย่อยาว

คดีทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดสำนวนศาลแรงงานกลางให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 227

โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุน โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดเคยเป็นลูกจ้างจำเลย ในการตกลงรับโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างนั้นจำเลยได้เสนอตำแหน่งค่าจ้างและรับรองว่าเมื่อลูกจ้างทำงานถึงเดือนธันวาคมของทุกปี จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสประจำปีในอัตราเท่ากับอัตราเงินเดือนปกติ 2 เดือน พนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 15 ปี มีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปีเท่ากับอัตราเงินเดือนปกติ3 เดือน สำหรับพนักงานที่เข้าทำงานระหว่างปีและได้รับการบรรจุก่อนวันที่ 31ธันวาคม มีสิทธิได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงินโบนัสตามสัดส่วนของอายุงานจำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสพร้อมเงินเดือนประจำเดือนธันวาคมในวันที่ 25ธันวาคม ของทุกปี รายละเอียดตามนโยบายการพนักงาน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 227 ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2517 (ตามคำฟ้องโจทก์แต่ละสำนวน) จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2540 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดโดยอ้างว่าจำเลยถูกระงับการดำเนินกิจการ แต่แท้จริงแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดในวันดังกล่าวก็เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดมีสภาพเป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่ 25 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจะต้องจ่ายเงินโบนัสประจำปี โดยมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดเป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างที่ไม่สุจริต และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการจ่ายเงินโบนัสประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดเมื่อเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ทั้งสองยี่สิบเจ็ดไม่มีความผิด โจทก์ทั้งหมดจึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปี ซึ่งถือว่าเป็นผลประโยชน์และสวัสดิการอื่น ๆ อย่างหนึ่งตามที่จำเลยกำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดทวงถามให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 227 ตามฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องแต่ละสำนวน

จำเลยทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดตามบัญชีท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินโบนัสของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันผิดนัด คือวันที่ 25 ธันวาคม 2540เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าการเลิกจ้างพนักงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดเพราะจำเลยได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้ระงับการดำเนินกิจการเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการแล้วก็ไม่มีเหตุจำต้องจ้างพนักงานทั้งหมด หากจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตเหตุใดเมื่อเลิกจ้างพนักงานแล้วจึงไม่จ้างพนักงานให้กลับเข้ามาทำงานทั้งหมด แต่จำเลยเลือกจ้างเพียงบางตำแหน่งเพื่อให้เข้ามาจัดการส่งมอบงานให้แก่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำตามคำสั่งของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จึงเป็นการเลิกจ้างโดยสุจริต เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดในวันที่ 24 ธันวาคม 2540 ก่อนถึงวันจ่ายค่าจ้างและเงินโบนัสเพียง 1 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัส ในวันเดียวกันนั้นเองหลังจากเลิกจ้างแล้วจำเลยยังว่าจ้างพนักงานรวมทั้งโจทก์บางคนกลับเข้าทำงานอีกพฤติการณ์และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยยี่สิบเจ็ดโดยไม่สุจริต อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ตามนโยบายการพนักงาน(ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน) เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7.1.1 กำหนดว่าจำเลยมีนโยบายจะจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานภายในสิ้นปีของทุก ๆ ปีเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน ทั้งนี้หากจำเลยประกอบกิจการไม่มีกำไรก็ไม่จำเป็นหรือมีเหตุผลที่จำเลยจะให้รางวัลแก่พนักงานเมื่อโจทก์ทั้งหมดไม่สามารถทำกำไรได้ แม้จำเลยไม่เลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดก็ยังคงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานทุกคนเช่นกัน เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 7.1.1 นั้น จำเลยได้กำหนดเป็นนโยบายเอาไว้ว่าจะจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานภายในสิ้นปีของทุก ๆ ปี เพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน ทั้งนี้พนักงานจะต้องมีสภาพเป็นพนักงานอยู่จนถึงวันจ่ายเงินโบนัส (วันที่ 25 ธันวาคม) ดังนี้ การจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวจึงหมายถึงจำเลยตกลงจ่ายเงินแก่พนักงานเพื่อเป็นรางวัลหรือความดีความชอบที่พนักงานนั้น ๆอยู่ทำงานกับจำเลยจนถึงวันจ่ายเงินโบนัส ทั้งระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยฉบับนี้ก็มิได้มีเงื่อนไขระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานต่อเมื่อจำเลยดำเนินกิจการมีกำไรดังจำเลยอุทธรณ์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ทุกคนตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share