แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๑/๒๕๕๔
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดกำแพงเพชร
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๒ นางติง ชาวสวน หรือศรีชะนะ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กรมบัญชีกลาง ที่ ๒ นายเพ็ง ชาวสวน ที่ ๓ นางสมร ชาวสวน ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๖๙/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นมารดาของพลทหารคำสิงห์ ชาวสวน ซึ่งเกิดกับนายเส็ง ชาวสวน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เมื่อปี ๒๕๓๐ พลทหารคำสิงห์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติงานที่สมรภูมิร่มเกล้าและถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทหารประจำการ ทำให้ทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญพิเศษ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ หลังจากนั้น
เมื่อปี ๒๕๓๑ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ยื่นคำร้องขอรับเงินบำนาญพิเศษในฐานะทายาท โดยแจ้งว่า เป็นบิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ จำเลยที่ ๑ พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วอนุมัติให้จ่ายเงินบำนาญพิเศษแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรให้คลังจังหวัดจ่ายเงินบำนาญพิเศษแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นับแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๑ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๕๕๒ รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้รับไปแล้วทั้งสิ้น ๑,๑๐๗,๘๔๖ บาท การสั่งจ่ายเงินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อ้างว่าเป็นทายาทอันเป็นความเท็จ ทำให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลงเชื่อ มิได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นทายาทที่แท้จริงหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ ซึ่งเป็นมารดาที่แท้จริงและมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษแต่เพียงผู้เดียวได้รับความเสียหาย ไม่อาจใช้สิทธิในการรับเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๐๗ ,๘๔๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ระงับการจ่ายเงินแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นับถัดจากวันฟ้องและสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์เพียงผู้เดียวจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อีกทั้งโจทก์มิใช่ มารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์ ประกอบกับหน่วยงานต้นสังกัดของพลทหารคำสิงห์ดำเนินการตรวจสอบความเป็นทายาทของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แล้วรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ส่งมายังจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเงินแผ่นดินเพื่อสั่งจ่ายเงิน เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตรวจสอบแล้ว เห็นว่า มีเอกสารครบถ้วนจึงได้สั่งจ่ายเงินดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการเป็นทายาท จึงมิได้สั่งจ่ายเงินดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ไม่เคยยื่นคำร้องขอรับเบี้ยบำเหน็จพิเศษหรืออ้างว่าเป็นบิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ต่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แต่ยอมรับว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิใช่บิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ เนื่องจากเดิมนายเส็งพี่ชายของจำเลยที่ ๓ อยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือพลทหารคำสิงห์ แต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิดตามกฎหมาย จากนั้นนายเส็งกับโจทก์แยกทางกัน จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ได้อุปการะเลี้ยงดูพลทหารคำสิงห์ตลอดมาจนกระทั่งอายุ ๑๘ ปี ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนทหาร จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงไปแจ้งเกิดพลทหารคำสิงห์ย้อนหลัง เจ้าหน้าที่อำเภอได้ระบุให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นบิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ โดยมิได้จงใจให้มีสิทธิต่างๆ แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้ตายขึ้นทะเบียนทหารได้เท่านั้น เมื่อพลทหารคำสิงห์ถึงแก่ความตาย ผู้บังคับบัญชาของพลทหารคำสิงห์ได้แจ้งว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษและดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ จึงเป็นการจ่ายเงินตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ อีกทั้งบำนาญพิเศษมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์จึงไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ คดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเอกชนว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แจ้งความอันเป็นเท็จว่าเป็นทายาทของพลทหารคำสิงห์ แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้อนุมัติให้จ่ายเงินบำนาญพิเศษ โดยมิได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นทายาทที่แท้จริงหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์และมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษแต่เพียงผู้เดียวได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยกับให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ระงับการจ่ายเงินแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์เพียงผู้เดียว ซึ่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่มีการโต้แย้งและเป็นที่ยุติว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งว่าโจทก์มิใช่มารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์ จึงไม่มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษ ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นมารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์หรือไม่ แล้วจึงพิจารณาได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับบำนาญพิเศษ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม อีกทั้งมูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวเดียวกันจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรม จะต้องพิจารณาเขตอำนาจศาลของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่อนุมัติให้จ่ายบำนาญพิเศษให้แก่ทายาทของพลทหารประจำการที่ถึงแก่ความตายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ตรวจสอบว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นทายาทที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์หรือไม่ ทำให้โจทก์ ซึ่งเป็นมารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์และมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษแต่เพียงผู้เดียว ได้รับความเสียหายไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๐๗,๘๔๖ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ระงับการจ่ายเงินแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปและสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียวจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๕ บัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้… มาตรา ๕๑ บัญญัติว่า เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัดได้รับเรื่องราวขอรับบำเหน็จบำนาญแล้ว ให้รีบตรวจสอบนำส่งให้ถึงกระทรวงการคลังภายในหกสิบวันนับแต่วันรับ และเมื่อกระทรวงการคลังได้รับเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้รีบพิจารณาสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันรับ ประกอบกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้อ ๑๗ กำหนดว่า การสั่งจ่ายบำเหน็จบำนาญให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมบัญชีกลาง…วรรคสองกำหนดว่า เมื่อกรมบัญชีกลางได้รับเรื่องราวขอรับบำเหน็จบำนาญแล้วให้ตรวจสอบและพิจารณาสั่งจ่ายแล้วแจ้งให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดหรือจังหวัดผู้ขอและผู้เบิกตามความในหมวด ๔ โดยระบุประเภทเงินที่จ่าย จำนวน และชื่อผู้รับให้ชัดเจน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายในการอนุมัติสั่งจ่ายบำเหน็จบำนาญได้อนุมัติจ่ายบำนาญพิเศษให้แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไปตามรายงานการตรวจสอบทายาทของหน่วยต้นสังกัดของพลทหารคำสิงห์ จึงเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการขอรับและการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยที่เมื่อคำสั่งให้จ่ายบำนาญพิเศษของจำเลยที่ ๑ มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในการได้รับบำนาญพิเศษ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ใช้อำนาจตามกฏหมายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นบิดามารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์หรือไม่ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกคำสั่ง
ทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์และเป็นทายาทที่มีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษเพียงผู้เดียวได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับบำนาญพิเศษดังกล่าว และขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่มารดาของพลทหารคำสิงห์ นั้น เห็นว่าประเด็นโต้แย้งดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาแห่งคดีเพื่อพิจารณาว่าคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ออกไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เท่านั้นมิใช่เกณฑ์พิจารณาอำนาจศาล และไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลปกครองพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้กรณีพิพาทพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการรับเงินบำนาญพิเศษเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะเมื่อคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัย มาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แม้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล แต่เหตุพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้อนุมัติให้จ่ายบำนาญพิเศษแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ศาลจำต้องพิจารณาคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้ได้ความเสียก่อนว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ จึงเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกันที่ศาลปกครองเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในทางเดียวกัน โดยอาศัยอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยเรื่องที่มีมูลเดียวกันได้ทั้งคดี แม้บางข้อหาจะไม่ได้มีกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลก็ตาม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙/๒๕๔๗
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันเอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นมารดาของพลทหารคำสิงห์ ชาวสวน ซึ่งเกิดกับนายเส็ง ชาวสวน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย พลทหารคำสิงห์ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปปฏิบัติงานที่สมรภูมิร่มเกล้าและถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทหารประจำการ ทำให้ทายาทมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญพิเศษ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แจ้งความอันเป็นเท็จว่าเป็นบิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลงเชื่อ อนุมัติให้จ่ายเงินบำนาญพิเศษแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยมิได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าเป็นทายาทที่แท้จริงหรือไม่ เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาที่แท้จริงและมีสิทธิได้รับบำนาญพิเศษแต่เพียงผู้เดียวได้รับความเสียหายไม่อาจใช้สิทธิในการรับเงินดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้รับไปแล้ว และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ระงับการจ่ายเงินแก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ และสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์เพียงผู้เดียวจนกว่าโจทก์ จะถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า โจทก์มิใช่มารดาที่แท้จริงของพลทหารคำสิงห์การจ่ายเงินเป็นไปตามหลักฐานการตรวจสอบความเป็นทายาทของหน่วยงานต้นสังกัด จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการเป็นทายาท จึงมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ไม่เคยยื่นคำร้องขอรับเบี้ยบำเหน็จพิเศษหรืออ้างว่าเป็นบิดามารดาของพลทหารคำสิงห์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิใช่บิดามารดาของพลทหารคำสิงห์แต่พลทหารคำสิงห์เป็นบุตรของโจทก์กับพี่ชายจำเลยที่ ๓ ที่อยู่กินฉันสามีภรรยาและไม่ได้แจ้งการเกิดตามกฎหมาย เมื่อโจทก์กับพี่ชายของจำเลยที่ ๓ แยกทางกันและพลทหารคำสิงห์ ต้องขึ้นทะเบียนทหาร จึงมีการแจ้งเกิดย้อนหลังเพื่อให้ผู้ตายขึ้นทะเบียนทหารได้เท่านั้น เจ้าหน้าที่อำเภอได้ระบุให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นบิดามารดา เมื่อพลทหารคำสิงห์ถึงแก่ความตายผู้บังคับบัญชาของพลทหารคำสิงห์ได้แจ้งว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีสิทธิได้รับเงินบำนาญพิเศษและดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ จึงเป็นการจ่ายเงินตามหลักฐานที่ปรากฏ โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มิได้แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงาน จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ อีกทั้งบำนาญพิเศษมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์จึงไม่มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าตนเป็นมารดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทและมีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จตกทอดและเงินบำนาญพิเศษ แม้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะให้การยอมรับข้อเท็จจริงว่าตนมิใช่บิดามารดาของผู้ตายก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็ให้การว่า โจทก์มิใช่มารดาที่แท้จริงของผู้ตายและจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ก็เคยยืนยันว่าเป็นบิดามารดาของผู้ตาย ดังนั้น ประเด็นหลักของข้อพิพาทในคดีนี้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ฝ่ายใดเป็นทายาทของผู้ตายอันที่จะมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ หากทำละเมิดก็จะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่หากไม่เป็นการละเมิดก็ไม่จำต้องคืน ซึ่งเป็นข้อพิพาทในทางแพ่งระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนประเด็นที่ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ โดยละเมิดหรือไม่ อันถือได้ว่าเป็นประเด็นรองนั้น แม้เป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็จะต้องจ่ายให้แก่ทาทายาทตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งต้องพิจารณาให้ได้ความจากประเด็นหลักเสียก่อน เมื่อประเด็นหลักอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมแล้วประเด็นรองจึงควรอยู่ในอำนาจของศาลเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางติง ชาวสวน หรือศรีชะนะ โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กรมบัญชีกลางที่ ๒ นายเพ็ง ชาวสวน ที่ ๓ นางสมร ชาวสวน ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ