คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9034/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับให้ต้องมีพยานในการปิดประกาศแต่อย่างใด และการปิดประกาศกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของผู้ส่งให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิด ซึ่งต้องเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย ไม่จำต้องใช้กาวปิดไว้เสมอไป ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคำว่า “ปิด” หมายถึง กันหรือกั้นไว้ไม่ให้เผยออกหรือกั้นไว้ให้เข้าออกไม่ได้ หรือทำให้หยุด เช่น ปิดพัดลม ปิดวิทยุ ดังนี้การปิดประกาศจึงมิได้มีเฉพาะต้องใช้กาวทาปิดแต่เพียงวิธีเดียว การนำลวดผูกติดไว้กับประกาศดังกล่าวจึงเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว ในการขายทอดตลาดมีผู้เข้าสู้ราคาโดยชอบ แม้จะเพียง 2 คน คือจำเลยกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใดทั้งจำนวนเงินที่ขายได้1,120,000 บาท ก็สูงกว่าราคาประเมินซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ แม้จะต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินหรือต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันทั่วไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการขายทอดตลาดการขายทอดตลาดทรัพย์ในราคาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่19 กันยายน 2532 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 9401 และเลขที่ 10509 ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์กับอาคารตึก 2 ชั้น บนที่ดินดังกล่าวซึ่งจำเลยและผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์รวมกันเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2535โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 1,120,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำแถลงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 และยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2535 ว่า ผู้ร้องไม่ทราบการขายทอดตลาด เพราะเจ้าหน้าที่ศาลมิได้ปิดประกาศแต่ได้สอดประกาศไว้ ณ บ้านเรือนของผู้ร้อง หากประกาศติดไว้ผู้ร้องจะต้องทราบเรื่องราคาที่ขายต่ำเกินไป การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงว่า ตามรายงานเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้ปิดหมายโดยชอบแล้วจึงไม่มีเหตุที่จะสั่งคำแถลงนี้ และมีคำสั่งในคำร้องว่า คำร้องมีข้อความเดียวกับคำแถลงที่ผู้ร้องยื่นมา จึงไม่จำต้องสั่ง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องเป็นการโต้แย้งรายงานเจ้าหน้าที่ศาลที่อ้างว่าปิดประกาศขายทอดตลาดไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้ร้องโดยชอบข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจฟังเป็นยุติว่าได้มีการแจ้งวันขายทอดตลาดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบก่อนวันขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อนว่าผู้ร้องได้ทราบวันขายทอดตลาดโดยชอบแล้วหรือไม่และเมื่อใดแล้วจึงมีคำสั่ง พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่ ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว กล่าวคือก่อนขายเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตรวจดูรายงานเจ้าหน้าที่ศาลที่นำประกาศขายทอดตลาดไปส่งให้จำเลย ผู้เกี่ยวข้องและผู้ร้องแล้วโดยชอบ ราคาขายก็สูงกว่าราคาที่ประเมินไว้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายได้ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกว่า เจ้าหน้าที่ศาลได้ปิดประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบโดยชอบแล้วหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่า การประกาศขายครั้งแรกมีการส่งประกาศให้ทราบเมื่อถึงวันขายได้เลื่อนการขายไปโดยไม่มีกำหนดต่อมานางสาวปฐวีกานต์ ศรีหงส์ บุตรสาวผู้ร้องโทรศัพท์มาบอกว่าจำเลยไปหาบอกว่าหอพักเป็นของนายกวี ศรีหงส์ แล้วให้ผู้ร้องเตรียมตัวขนย้ายออก ผู้ร้องจึงโทรศัพท์ปรึกษานางสาวกมลสิริ ศรีหงส์ บุตรสาวอีกคนหนึ่งที่กรุงเทพมหานคร รุ่งขึ้นนางสาวกมลสิริมากับนายสมพล จรัสโรจนภรณ์แล้วพากันไปหานายประทีป ภูมินทร์ทอง ซึ่งเคยเป็นทนายความให้ผู้ร้องนายประทีป แนะนำให้ไปติดต่อที่ศาลชั้นต้นผู้ร้องมาสอบถามที่ศาลชั้นต้นพบนายสรศักดิ์รองจ่าศาล นายสรศักดิ์ได้เปิดสำนวนให้ดู ปรากฏว่ามีการขายทอดตลาดไปแล้ว ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องการขาย การส่งประกาศดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ศาลชื่อนางกระจ่างเป็นผู้ส่ง ในวันนั้นนางกระจ่างได้เดินมาหาบอกว่าตอนที่ไปส่งประกาศไม่ได้นำกาวไปด้วย จึงไม่ได้ปิดหมายไม่ได้แกล้งผู้ร้อง นางกระจ่างได้ทำรายงานการส่งประกาศไว้ตามรายงานเจ้าหน้าที่เอกสารหมาย ร.1 ผู้ร้องทราบเช่นนั้นจึงไปหานายประทีป นายประทีปแนะนำให้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปกติผู้ร้องไปทำงานตอนเช้าและกลับมาที่หอพักตอนเที่ยงกับตอนเย็น ที่หอพักมีนางสาวเพ็ญนภา เฮียงก่อเป็นผู้ดูแลหอพักและรับจดหมาย ผู้ร้องสอบถามนางสาวเพ็ญนภาและนักศึกษาในหอพักก็ไม่มีผู้ใดรู้เห็นว่ามีการปิดประกาศ ข้อเท็จจริงดังที่ผู้ร้องเบิกความมาผู้ร้องมีนางสาวกมลสิริ นายสมพล นางสาวเพ็ญนภา นางประภา ทองวัฒนา นางสาวอุสราพร กล่ำถึก นางสาวไพเราะ แก้วอำนวย นางสาวพอหทัย สุทธิสุวรรณและนางสาวลัดดา แสงพันธ์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุน เห็นว่า พยานผู้ร้องล้วนแต่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับผู้ร้องทั้งสิ้น โดยนางสาวกมลสิริเป็นบุตรสาวผู้ร้องนางสาวเพ็ญนภาเป็นญาติและอยู่ในความเป็นผู้ปกครองของผู้ร้องในขณะนั้นนายสมพลเป็นเพื่อนกับนางสาวกมลสิริ สำหรับพยานนอกนั้นก็เป็นนักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์ของผู้ร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของนางประภานางสาวอุสราพร นางสาวไพเราะ นางสาวพอหทัย และนางสาวลัดดาว่าที่หอพักดังกล่าวมีนางสาวเพ็ญนภาทำหน้าที่ดูแลปัดกวาดทำความสะอาดและทำหน้าที่เก็บค่าเช่าหอพักให้ผู้ร้อง หากมีจดหมายมาส่งที่หอพักนางสาวเพ็ญนภาจะนำจดหมายมาให้ผู้ที่เช่าในหอพัก ระหว่างศึกษาที่วิทยาลัยพยาบาล นักศึกษาจะออกจากหอพักตั้งแต่ตอนเช้าและกลับมาประมาณค่ำเกือบทุกวัน จึงไม่น่าเชื่อว่านางประภา นางสาวอุสราพร นางสาวไพเราะนางสาวพอหทัย และนางสาวลัดดาจะรู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องที่มีการปิดประกาศขายทอดตลาด ผู้ที่น่าจะรู้เห็นในเรื่องนี้ดีที่สุดก็มีเพียงนางสาวเพ็ญนภาผู้เดียวเพราะเป็นแม่บ้านในหอพักแห่งนี้ แต่คำเบิกความของนางสาวเพ็ญนภาก็มีน้ำหนักน้อย เพราะนอกจากเป็นญาติของผู้ร้องดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ยังปรากฏว่านางสาวเพ็ญนภาทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินและหอพักแห่งนี้ถูกยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด โดยในวันที่ 5 มิถุนายน 2535 ผู้ร้องชักชวนให้นางสาวเพ็ญนภามาดูการขายทอดตลาดที่ศาลชั้นต้น แต่ในวันดังกล่าวไม่มีการขายและได้เลื่อนการขายออกไปนางสาวเพ็ญนภาเบิกความว่าผู้ร้องบอกว่าหากมีเอกสารใด ๆ เช่นหมายศาลไปส่งที่หอพักก็ให้คอยดูแลเก็บรวบรวมและแจ้งให้ทราบ แต่ในช่วงที่มีการขายทอดตลาดครั้งนี้ไม่เคยพบเห็นเจ้าหน้าที่ศาลไปยังหอพักเลย ต่อมานางสาวรสสุคนธ์ บุตรผู้ร้องซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครแจ้งว่าหอพักดังกล่าวได้ขายทอดตลาดไปแล้ว แต่ผู้ร้องไม่เชื่อ เนื่องจากไม่เคยได้รับแจ้งจากทางศาลเลย ผู้ร้องจึงโทรศัพท์เรียกนางสาวกมลสิริให้เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปพบในวันที่ 31 สิงหาคม 2535 ผู้ร้องชวนนางสาวกมลสิริไปหาทนายความชื่อนายประทีป ทนายความดังกล่าวแนะนำให้ไปที่ศาล จากนั้นผู้ร้องนางสาวกมลสิริและนายสมพลก็เดินทางไปที่ศาล ส่วนนางสาวเพ็ญนภาไม่ได้ไปด้วยโดยขอตัวกลับบ้านก่อน เห็นว่าในการขายทอดตลาดครั้งแรก นางเพชรา นิโรจน์ เจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่จำเลยและผู้ร้องที่หอพักที่นางสาวเพ็ญนภาดูแลอยู่ ก็ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลที่รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ได้นำประกาศขายทอดตลาดไปส่งแล้ว แต่ไม่พบจำเลยกับผู้ร้องและไม่มีใครรับแทนจึงปิดประกาศไว้ที่หอพักดังกล่าว ตามเอกสารอันดับ 3 ในสำนวนแสดงว่านางสาวเพ็ญนภามิได้อยู่ที่หอพักแห่งนี้ตลอดเวลา มิฉะนั้นเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ศาลคงไม่ต้องปิดประกาศดังกล่าว ผู้ร้องเบิกความว่าในการประกาศขายครั้งแรก มีการส่งประกาศให้ทราบ ส่วนนางสาวเพ็ญนภามิได้เบิกความถึงประกาศขายครั้งแรกเลยทำให้ไม่น่าเชื่อว่านางสาวเพ็ญนภาจะทำหน้าที่อยู่ในหอพักตลอดเวลา ในการประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สองตามรายงานของนางกระจ่างก็ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2535 เวลากลางวัน ได้นำประกาศไปส่งแก่จำเลยและผู้ร้องที่หอพักดังกล่าวแต่ไม่พบจำเลยและผู้ร้องและไม่มีผู้ใดรับแทนโดยชอบ จึงปิดประกาศไว้ที่หน้าประตูบ้านเรือนของจำเลยและผู้ร้อง ซึ่งเป็นที่เปิดเผยและมองเห็นง่ายตามเอกสารหมาย ร.1 ก็มีเหตุให้เชื่อได้ว่าขณะที่นางกระจ่างไปส่งประกาศนั้นนางสาวเพ็ญนภาก็คงจะมิได้อยู่เช่นกันซึ่งนางกระจ่างพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่าพยานเคยไปส่งหมายให้ผู้ร้องคดีนี้หลายครั้งบางครั้งพบตัวผู้ร้อง บางครั้งก็ไม่พบ บ้านของผู้ร้องเป็นหอพักประตูหน้าบ้านเป็นประตูเหล็กเลื่อน ส่วนใหญ่จะปิดไว้ เวลาไปส่งหมายจะกดออดเรียกบางครั้งมีคนในบ้านออกมารับหมายไว้แทน พยานปากนี้เป็นเจ้าหน้าที่ศาลมิได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด ได้ส่งประกาศตามหน้าที่ ทั้งเคยส่งหมายที่หอพักแห่งนี้มาแล้วหลายครั้งเชื่อว่าเบิกความตามจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ได้มีการนำประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สองไปส่ง แต่ไม่มีผู้ใดรับจึงได้ปิดประกาศดังกล่าว ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าเมื่อผู้ร้องมาสอบถามนายสรศักดิ์รองจ่าศาลนายสรศักดิ์ได้เปิดสำนวนให้ดูและนางกระจ่างได้เดินมาบอกว่าตอนที่ไปส่งประกาศ ไม่ได้นำกาวไปด้วย จึงไม่ได้ปิดหมาย ไม่ได้แกล้งผู้ร้องนั้นแม้นางกระจ่างจะเบิกความตอบคำถามค้านของผู้ร้องว่า ไม่ได้บอกผู้ร้องว่าไม่ได้แกล้งเคยบอกแต่เพียงว่าวันที่ไปส่งประกาศกาวหมด จึงใช้ลวดซึ่งติดอยู่หน้าประตูผูกประกาศติดไว้ก็ตาม ก็มิได้หมายความถึงกับว่าแม้กาวหมดหรือมิได้นำกาวไปด้วย นางกระจ่างจึงเอาประกาศนั้นกลับโดยมิได้ดำเนินการปิดประกาศนั้นแต่อย่างใดนางกระจ่างเบิกความว่าได้ใช้ลวดซึ่งติดอยู่ที่ประตูผูกประกาศติดไว้ ซึ่งเมื่อตรวจดูเอกสารหมาย ร.1แล้ว มีระบุว่าได้ปิดประกาศไว้ที่ประตูหน้าบ้านเรือนของจำเลยและผู้ร้องแล้วจึงเชื่อว่านางกระจ่างได้นำประกาศขายทอดตลาดครั้งที่สองไปผูกติดกับลวดที่ประตูหน้าบ้านของผู้ร้องจริง ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการต่อไปว่าการปิดหมายโดยมิได้ใช้กาวติดปิดให้แน่น ทั้งมิได้มีเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นพยานรู้เห็นนั้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความ หรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคู่ความหรือเอกสาร”กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานในการปิดประกาศแต่อย่างใด สำหรับการปิดประกาศ กฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของผู้ส่งให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งต้องเป็นที่เปิดเผย ให้เห็นได้ง่าย ไม่จำต้องใช้กาวปิดไว้เสมอไป ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คำว่า “ปิด” เป็นคำกริยาหมายถึง กันหรือกั้นไว้ไม่ให้เผยออก เช่น ปิดฝาหม้อ, กันหรือกั้นไว้ให้เข้าออกไม่ได้ เช่น ปิดถนน, ติด เช่น ปิดประกาศ ปิดทอง โดยปริยายหมายความว่า หยุด เช่น โรงเรียนปิด, ทำให้หยุด เช่น ปิดพัดลม ปิดวิทยุ ไม่เปิดเผยเช่น ปิดวิชา ปิดความ ดังนี้ การปิดประกาศจึงมิได้มีเฉพาะต้องใช้กาวทาปิดแต่เพียงวิธีเดียวดังที่ผู้ร้องเข้าใจเท่านั้น การนำลวดผูกติดไว้กับประกาศดังกล่าว จึงเป็นการปิดคำคู่ความหรือเอกสารโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างเหตุว่ามิได้มีการปิดประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ทั้งราคาขายต่ำเกินไปโดยราคาสิ่งปลูกสร้างในปี 2527 ราคาประมาณ 1,200,000 บาทที่ดินดังกล่าวมีราคา193,200 บาท รวมราคา 1,393,200 บาท ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ผู้ร้องเคยแถลงคัดค้านแล้วว่าจำเลยและผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์สมยอมกันฟ้องร้องจำเลยเพื่อมายึดทรัพย์ของผู้ร้อง ซึ่งศาลชั้นต้นได้สืบพยานหลักฐานของผู้ร้องและโจทก์ในข้อนี้ไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียในคราวเดียวกันโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยอีก เห็นว่า ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี มีผู้เข้าสู้ราคาโดยชอบ แม้จะเพียง2 คน คือ จำเลยกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด ทั้งจำนวนเงินที่ขายได้ 1,120,000 บาท ก็สูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินไว้ 1,112,700 บาท ตามเอกสารหมาย ค.3 แม้จะต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินในปี 2535 หรือต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันทั่วไปก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการขายทอดตลาด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทอดตลาดในราคาดังกล่าวจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share