คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6319/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้กรมที่ดินจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมโดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อตกลงของโจทก์และเจ้าของสามยทรัพย์ที่ประสงค์จะจดทะเบียนทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินกลับจดทะเบียนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินแทน แต่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (2) กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอน แก้ไข เอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเอกสารที่ได้จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนภาระจำยอม จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกมิได้มีการใช้ภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่โจทก์มิได้ฟ้องเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความด้วย ศาลจึงพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นให้แก่ที่ดินของโจทก์ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 154620 และ 154621 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 โจทก์และเจ้าของสามยทรัพย์ประสงค์จะจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 ทางด้านทิศตะวันตก แต่จำเลยที่ 2 กลับจดทะเบียนคลาดเคลื่อนโดยจดทะเบียนภาระจำยอมทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินแทน เมื่อโจทก์และเจ้าของสามยทรัพย์ทราบการจดทะเบียนผิดเจตนาจึงไปจดทะเบียนภาระจำยอมทางด้านทิศตะวันตกใหม่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2525 โดยเข้าใจว่าภาระจำยอมที่จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 จะหมดสิ้นไปโดยปริยาย ต่อมาโจทก์ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 มาเป็นโฉนดเลขที่ 154621 ด้วย จึงทราบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 ของโจทก์ยังมีภาระจำยอมที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 อยู่ ทั้งๆ ที่ภาระจำยอมดังกล่าวมิได้ใช้มาตั้งแต่จดทะเบียนจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงติดต่อจำเลยที่ 2 เพื่อขอจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ โจทก์จึงมอบให้ทนายความดำเนินการติดต่อขอจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมให้แก่โจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 และ 154621 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมตามคำขอของโจทก์ จำเลยที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมบนที่ดินของโจทก์ถูกต้องตรงตามเจตนาของโจทก์และเจ้าของสามยทรัพย์แล้ว มิได้จดทะเบียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะอำนาจการเพิกถอนหรือแก้ไขในกรณีนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (2) และก่อนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีจะดำเนินการดังกล่าวได้ โจทก์จะต้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์ได้ยื่นเรื่องขอยกเลิกภาระจำยอมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 และอยู่ระหว่างการดำเนินการของจำเลยที่ 2 ตามขั้นตอนของกฎหมาย จำเลยที่ 2 ยังมิได้กระทำการใดๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 62198 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดินในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางด้านทิศตะวันออกตามสำเนาบันทึกข้อตกลงภาระจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.18 หรือเอกสารหมาย ล.2 วันที่ 7 มิถุนายน 2525 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดินในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตกตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.19 และสำเนาบันทึกข้อตกลงภาระจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย ล.7 บันทึกข้อตกลงภาระจำยอมตามเอกสารหมาย จ.18 และ ล.7 ทำขึ้นระหว่างโจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์กับบริษัทวิจิตรและสหาย จำกัด ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ โดยครั้งแรกโจทก์ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ส่วนครั้งหลังนายละมัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์โดยทนายความมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดินที่ได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่าหากโจทก์จะขอยกเลิกรายการจดทะเบียนภาระจำยอมต้องให้เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์มาขอจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมด้วย มิฉะนั้นทำไม่ได้แต่โจทก์สามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าภาระจำยอมสิ้นไปเพราะเหตุมิได้ใช้ 10 ปี ตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2541 (เอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 2) วันที่ 15 มิถุนายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้มีคำสั่งว่าภาระจำยอมเหนือที่ดินของผู้ร้อง (โจทก์) ที่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 สิ้นไป เพราะมิได้ใช้ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 แต่ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ตามสำเนาคำร้องเอกสารหมาย จ.9 โจทก์มิได้อุทธรณ์ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมที่กระทำเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อตกลงของโจทก์และเจ้าของสามยทรัพย์ที่ประสงค์จะจดทะเบียนทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินกลับจดทะเบียนทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินแทน แต่โจทก์กลับนำสืบว่าเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2522 นางประยงค์ได้ขอให้โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินบางส่วนเพื่อใช้เป็นถนน โจทก์จึงดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้เรียบร้อย ประกอบกับตามสำเนาบันทึกตกลงภาระจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.18 และ ล.2 ต่างระบุในข้อ 1 ว่า “โจทก์ยินยอมให้ที่ดินโฉนเลขที่ 62198 ตกอยู่ในบังคับภาระจำยอมเรื่องทางเดินของที่ดินโฉนดเลขที่… ปรากฏตามแผนที่สังเขปต่อท้ายตกลงนี้…” และตามสำเนาแผนที่สังเขปแนบท้ายเอกสารหมาย ล.2 แล้วก็ปรากฏว่ามีรูปถนนอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ดังกล่าวด้วย เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดินในที่ดินของโจทก์ถูกต้องตรงตามสำเนาบันทึกข้อตกลงภาระจำยอมบางส่วนเอกสารหมาย จ.18 และ ล.2 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงมิได้จดทะเบียนภาระจำยอมเรื่องทางเดินในที่ดินของโจทก์ในวันที่ 22 สิงหาคม 2522 โดยผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนดังที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใดและแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างด้วยว่า โจทก์ได้ติดต่อขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการใช้ภาระจำยอมที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 เป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ก็ตามก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.8 แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมดังกล่าวได้ตามลำพัง โจทก์จะต้องนำเจ้าของสามยทรัพย์มาแจ้งขอยกเลิกรายการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นด้วย จำเลยที่ 2 จึงจะจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายที่ดินขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (2) ก็กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนแก้ไข เอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือเอกสารที่ได้จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่ที่ดินของโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ไม่ดำเนินการจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนภาระจำยอมที่จะทะเบียนเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2522 ตามที่โจทก์ฟ้อง ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าที่ดินของโจทก์ทางทิศตะวันออกจะมิได้มีการใช้ภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ฟ้องเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความด้วย ศาลก็ไม่อาจพิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนรายการจดทะเบียนภาระจำยอมนั้นให้แก่ที่ดินของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share