คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9028/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นอกจากตัวโจทก์จะมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 150,000 บาท ตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังมีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้มาแสดง มีเหตุให้น่าเชื่อในเบื้องต้นว่า ฟ้องของโจทก์มีมูลความจริง แม้โจทก์จะไม่มีพยานมาเบิกความให้ได้ความโดยแจ้งชัดว่าจำเลยยังมีเจ้าหนี้รายอื่นหรือจำเลยตั้งใจจะโอน ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยักย้ายไปให้พ้นจากอำนาจศาล แต่โจทก์ก็มีผู้ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกันกับจำเลยมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยและสามีได้ลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วโดยจำเลยจะได้เงินทดแทนต่าง ๆ หลังจากลาออกประมาณ 2 เดือน ซึ่งโจทก์นำสืบว่าจำเลยจะได้รับประมาณ 500,000 บาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่น เมื่อเงินที่จำเลยจะได้รับเป็นทรัพย์ที่จำเลยสามารถปกปิดซ่อนเร้นหรือยักย้ายถ่ายเทได้โดยง่าย การที่จำเลยและสามีลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ย่อมทำให้จำเลยไม่มีอาชีพการงานที่แน่นอนมั่นคง หากจำเลยคิดบิดพลิ้วหรือหลีกเลี่ยงย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามบังคับหากโจทก์ชนะคดีในภายหลัง และกรณีไม่อาจรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่นอีก ดังนี้ เพื่อความยุติธรรม กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินจำนวนที่จำเลยจะได้รับดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255(2)(ข)
คำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวซึ่งตามมาตรา 21(3) ยกเว้นให้ศาลไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนเฉพาะพยานหลักฐานของโจทก์จึงชอบแล้ว
ตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โจทก์ขอให้อายัดเงินทั้งหมดที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับ 500,000 บาทเศษ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้เพียง 250,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นให้มีหมายถึงผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อจัดการส่งเงินที่อายัดไปให้ศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์ไม่ได้ขอนั้นก็เป็นการสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการอายัดเงินว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้ส่งมาที่ศาลหาได้เกินคำขอไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมเป็นเงิน 217,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 150,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและโจทก์ยื่นคำร้องว่า ขณะนี้จำเลยซึ่งทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโรงไฟฟ้าพระนครใต้ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นพนักงานของหน่วยงานดังกล่าวและมีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ เนื่องจากการลาออกประมาณเดือนตุลาคม2540 จำนวน 500,000 บาทเศษ จำเลยมีหนี้สินมากและไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นพอจะชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อลาออกและรับเงินดังกล่าวแล้วก็หลบหนีไปเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถบังคับคดี หากศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้อายัดเงินต่าง ๆ ที่จำเลยจะได้รับจากการลาออกจากการเป็นพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้แก่เงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงาน เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีลาออกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินโบนัสไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา แต่รวมทั้งหมดแล้วให้อายัดไว้ในวงเงินไม่เกินจำนวน250,000 บาท ให้โจทก์วางเงินประกัน 20,000 บาท ก่อนออกหมาย โดยให้มีหมายถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้จัดส่งเงินต่าง ๆ ดังกล่าวไปให้ศาลชั้นต้นต่อไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุเพียงพอที่ศาลจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับจำเลยหรือไม่ นอกจากตัวโจทก์จะมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 150,000 บาท แล้วโจทก์ยังมีหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้มาแสดง จึงมีเหตุให้น่าเชื่อในเบื้องต้นว่า ฟ้องของโจทก์มีมูลความจริง แม้โจทก์จะตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่อาจยืนยันได้ว่าตามภาพถ่ายที่ทนายจำเลยให้ดูใครเป็นจำเลย ก็เนื่องจากโจทก์เห็นว่าภาพถ่ายไม่ชัดเจนหาได้ชี้ให้เห็นว่าโจทก์ไม่รู้จักจำเลย แต่เหตุใดจึงยอมให้กู้เงินอันเป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ และแม้โจทก์จะไม่มีพยานมาเบิกความให้ได้ความโดยแจ้งชัดว่า จำเลยยังมีเจ้าหนี้รายอื่นหรือจำเลยตั้งใจจะโอนขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยักย้ายไปให้พ้นจากอำนาจศาล แต่โจทก์ก็มีนางพูนสุข พันธุมณี พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกันกับจำเลยมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยและสามีได้ลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยจะได้เงินทดแทนต่าง ๆ หลังจากลาออกประมาณ 2 เดือน ซึ่งโจทก์นำสืบว่าจำเลยจะได้รับประมาณ 500,000 บาทและจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่น เห็นว่า เงินที่จำเลยจะได้รับเป็นทรัพย์ที่จำเลยสามารถปกปิดซ่อนเร้นหรือยักย้ายถ่ายเทได้โดยง่าย การที่จำเลยและสามีลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ย่อมทำให้จำเลยไม่มีอาชีพการงานที่แน่นอนมั่นคง หากจำเลยคิดบิดพลิ้วหรือหลีกเลี่ยงย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามบังคับหากโจทก์ชนะคดีในภายหลัง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่นคือที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่แนบมาท้ายฎีกานั้น เห็นว่า หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาและจำเลยเพิ่งจะนำมาอ้างภายหลัง จึงไม่อาจรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยจริงหรือไม่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังได้ว่า เพื่อความยุติธรรมกรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255(2)(ข) ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียวเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(3) ยกเว้นให้ศาลไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนเฉพาะพยานหลักฐานของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นเกินคำขอของโจทก์นั้นเห็นว่า ตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โจทก์ขอให้อายัดเงินทั้งหมดที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจำนวน 500,000 บาทเศษ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้เพียง 250,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นให้มีหมายถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อจัดการส่งเงินที่อายัดไปให้ศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์ไม่ได้ขอนั้น ก็เป็นการสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการอายัดเงินว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้ส่งมาที่ศาล หาได้เกินคำขอแต่อย่างใดไม่

พิพากษายืน

Share