แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่เหตุเกิดเป็นทางสัญจรและเป็นถนนสายหลักสายสำคัญ จึงน่าเชื่อว่าเวลา 1 นาฬิกา ยังมีรถแล่นอยู่และต้อง เปิดไฟสว่างแล่นสวนกันไปมา เชื่อว่าผู้เสียหายกับ ส. ต้องเห็นและจำคนร้ายได้ถนัดโดยเฉพาะคนร้ายที่ไม่ได้ สวมหมวกนิรภัย นอกจากนี้หลังเกิดเหตุผู้เสียหายกับ ส. ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบถึงลักษณะของคนร้าย เมื่อจับคนร้ายได้ผู้เสียหายกับ ส. ไปดูตัวและยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้มีดฟันสายรัดกระเป๋าเสื้อผ้า กับจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ใช้ไขควงจี้คุมผู้เสียหายกับ ส. ทั้งจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและนำชี้ ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แม้จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่า คำให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่และ ทำร้ายก็ตาม แต่ได้ความว่าในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ ส่วนผู้ต้องหาอื่นอีก 4 คน ให้การปฏิเสธ ถ้ามีการข่ม ขู่หรือทำร้ายจริงเหตุใดเจ้าพนักงานตำรวจ จึงบังคับแต่เพียงจำเลยที่ 3 ไม่บังคับบุคคลที่ให้การปฏิเสธ ดังกล่าวให้ให้การรับสารภาพด้วย พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์เอารถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ป-4622 ของบริษัทอรุณกรลิสซิ่ง จำกัดซึ่งอยู่ในความครอบครองของนางอัชฌา แจ้งสุข ผู้เสียหายและหมวกนิรภัยจำนวน 2 ใบ กับเสื้อผ้าพร้อมกระเป๋าเป้รวมราคาทั้งสิ้น 57,400 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันใช้มีดบางสแตนเลสหัวตัด ขนาดใบมีดยาว 12 นิ้ว 1 เล่มและไขควง 1 อัน ที่นำติดตัวมาเป็นอาวุธบังคับขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายและชีวิตของผู้เสียหายและพลทหารสุริยา แจ้งสุข สามีผู้เสียหาย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์ของผู้เสียหายนั้นไป เพื่อให้ผู้เสียหายยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น เพื่อยึดถือเอาทรัพย์ของผู้เสียหายนั้นไว้ และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยจำเลยทั้งสี่กับพวกใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน เป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83, 33 ริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นครสวรรค์ จ – 9101 รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 5 บ-0773 และมีดของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่คืนหรือใช้ราคาหมวกนิรภัย จำนวน 2 ใบ เสื้อผ้าพร้อมกระเป๋าเป้ ราคา 1,400 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 149/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จำคุกคนละ 21 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 14 ปี นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 149/2539 ของศาลชั้นต้นริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นครสวรรค์ จ-9101 ของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาหมวกนิรภัย จำนวน 2 ใบ และเสื้อผ้าพร้อมกระเป๋าเป้ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 1,400 บาทแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2536เวลาประมาณ 1 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับคนร้ายอีกหนึ่งคนขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายกันมา 2 คันแล้วร่วมกันใช้มีดและไขควงเป็นอาวุธขู่บังคับให้นางอัชฌา แจ้งสุข ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยา แจ้งสุข สามีผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืน คนร้ายทั้งสี่ได้เอากระเป๋าเป้บรรจุเสื้อผ้ากับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ป – 4622 และหมวกนิรภัย 2 ใบ ของผู้เสียหายไป หลังจากนั้นได้หลบหนีไปตามถนนสายเอเซียใหล้ กับหลักกิโลเมตรที่ 63 เขตอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นสถานที่เกิดเหตุตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย ป.จ.1 จนกระทั่งวันที่ 18 มิถุนายน 2536 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกสัมฤทธิ์ กิ่งรัตน์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางปะอินกับพวกได้ออกตรวจไปตามถนนสายเอเซียใกล้กับที่เกิดเหตุพบรถจักรยานยนต์ 2 คัน มีจำเลยที่ 4 กับพวก ขับและนั่งซ้อนท้ายลักษณะใกล้เคียงกับที่ผู้เสียหายแจ้งความไว้ จึงได้ขอตรวจค้นพบอาวุธปืนสั้นไม่มีหมายเลขทะเบียนจำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนจำนวน 1 นัด จากนายชิดชัย บุญประเสริฐ พวกของจำเลยที่ 4 คนหนึ่ง จึงจับกุมจำเลยที่ 4 กับพวก ชั้นสอบสวนนายวินัย บุญทรัพย์ พวกของจำเลยที่ 4 อีกคนหนึ่งรับว่า กลุ่มคนร้ายที่ร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายพักอยู่ที่หอพักซอยประทานพร อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันที่ 19 มิถุนายน 2536 ร้อยตำรวจเอกสัมฤทธิ์จึงให้นายวินัยพาไปที่หอพักซอยประทานพร และจับกุมจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 นายวสันต์ บัวอาจ นายเอนก ผ่อนตามและนายสถิตย์ เนียมทอง ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และบันทึกการยึดของกลางและแจ้งข้อหาเอกสารหมาย จ.2 และค้นพบมีดสแตนเลสหัวตัดใบมีดยาว 12 นิ้ว จำนวน 1 เล่ม หมวกนิรภัยจำนวน 2 ใบ กับยึดรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าบีท สีแดงกับสีน้ำเงินจำนวน 2 คัน ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.5ต่อมาผู้เสียหายได้รับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าบีท สีแดงหมายเลขเครื่องยนต์ แอล เอส 110 อี-017679 ของผู้เสียหายคืนไปจากเจ้าพนักงานตำรวจ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จึงต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยา ซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์มีโอกาสและเวลาพอที่จะเห็นและจำคนร้ายได้หรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุเกิดที่ไหล่ทางหลวงสายเอเซีย ในที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่างจากไฟฟ้า ทั้งข้อเท็จจริงยังฟังได้ต่อไปด้วยว่ามีแสงไฟจากจากไฟหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและของคนร้ายอีก 2 คันที่แล่นประ กบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ช่วงที่คนร้ายแล่นรถประ กบรถของผู้เสียหายนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่ารถจักรยานยนต์ของคนร้ายแล่นประ กบพยายามเบียดให้พลทหารสุริยาหยุดรถ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์คันที่แล่นตามหลังมาพยายามแซงทางขวา ผู้เสียหายเห็นคนร้ายคนที่ขับสวมหมวกนิรภัยส่วนคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายไม่ได้สวมหมวกนิรภัย เมื่อรถจักรยานยนต์คันหน้าแล่นปาดหน้ารถของผู้เสียหาย พลทหารสุริยาจำต้องหยุดรถที่ไหล่ถนน แต่คงยืนคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหน้าหรือคันที่ขับปาดหน้าและไม่ได้สวมหมวกนิรภัยลงจากรถมาดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปแล้วใช้มีดซึ่งมีลักษณะเหมือนมีดของกลางฟันที่สายคาดกระเป๋าเป้ใส่เสื้อผ้าซึ่งวางอยู่ที่ถังน้ำมันขาดแล้วเอากระเป๋าเป้ไป พลทหารสุริยาจึงปล่อยให้รถล้มคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหลังที่ผู้เสียหายเห็นมาแต่ต้นแล้วได้ลงมาจากรถใช้ไขควงคุมตัวผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาไว้และร้องสั่งให้ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาให้ออกห่างจากรถและให้ถอดหมวกนิรภัยให้แก่คนร้าย เห็นว่าตามลำดับเหตุการณ์มาตั้งแต่ต้นที่ผู้เสียหายรู้ว่ามีคนร้ายขับรถแล่นตามมา จนกระทั่งต้องถอดหมวกนิรภัยให้แก่คนร้ายนั้นใช้เวลานานพอสมควร ทั้งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาว่าคนร้ายใช้เวลานานประมาณ 3 ถึง 10 นาที เหตุเกิดริม หรือไหล่ถนนสายเอเซียกิโลเมตรที่ 63 ซึ่งเป็นทางสัญจรและเป็นถนนสายหลักสายสำคัญ จึงน่าเชื่อว่าเวลา 1 นาฬิกา ยังมีรถแล่นอยู่และต้องเปิดไฟสว่างแล่นสวนกันไปมา ดังนั้นบริเวณที่เกิดเหตุจึงมีแสงไฟสว่างน่าเชื่อว่าผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาพยานโจทก์ต้องเห็นและจำคนร้ายได้ถนัดโดยเฉพาะคนร้ายที่ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย นอกจากนี้ หลังจากเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบถึงลักษณะของคนร้าย และต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2536พันตำรวจโทกิตติพงศ์ บำรุงพงศ์ พนักงานสอบสวนได้ให้ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาไปดูตัวคนร้ายที่ร้อยตำรวจเอกสัมฤทธิ์ควบคุมตัวไว้ ทั้งผู้เสียหายกับพลทหารสุริยายืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้มีดของกลางฟันสายรัดกระเป๋าเสื้อผ้ากับจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหลังและเป็นผู้ที่ใช้ไขควงจี้คุมผู้เสียหายกับพลทหารสุริยา ส่วนปัญหาข้อนี้ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาพยานโจทก์ทำการชี้ตัวจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2536 ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.5 ระบุว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์คันสีดำที่แล่นนำหน้าซึ่งต่างไปจากคำเบิกความในชั้นพิจารณาและเมื่อพันตำรวจโทกิตติพงศ์ พนักงานสอบสวนให้จำเลยทั้งสี่นำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย ป.จ.3 และภาพถ่ายหมาย ป.จ.4 จำเลยที่ 3 นำชี้แสดงที่เกิดเหตุเป็นผู้ขับ รถจักรยานยนต์คันสีดำที่แล่นอยู่คันหน้าพยานหลักฐานโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แสดงว่าพนักงานสอบสวนมิได้ขู่บังคับให้จำเลยที่ 3 นำชี้แสดงท่าทางประกอบคำรับสารภาพโดยแสแสร้ง แต่งเรื่องให้สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาที่เคยดูตัวคนร้ายหรือจำเลยที่ 3 ในเบื้องต้นมาแล้วเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2536 และแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหลังและเป็นผู้ใช้ไขควงกับเป็นผู้สั่งให้ออกห่างจากรถของผู้เสียหาย ดังนั้นที่ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาชี้ตัวจำเลยที่ 3 ว่าเป็นคนร้ายในชั้นนำชี้ที่เกิดเหตุตามท่าทางประกอบคำรับสารภาพ จึงหาได้ขัดกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่าจำหน้าคนร้ายได้สามคนคือคนขับกับคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหน้าและคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันหลัง (จำเลยที่ 3) ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาได้ชี้จำเลยที่ 3 ตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย ป.จ.5 ตามที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ 3 นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีข้อพิรุธหรือมีเหตุควรที่จะต้องระแวงว่า ผู้เสียหายกับพลทหารสุริยาพยานโจทก์จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 3 ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อนต้องให้รับโทษแล้ว เมื่อนำคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.8 ที่มีรายละเอียดแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏร่องรอยหรือข้อพิรุธในคำให้การให้เห็นว่าเป็นการให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ แม้จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ชั้นสอบสวนไม่ควรรับฟังเป็นพยานโจทก์เพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่และทำร้ายตามภาพถ่ายหมาย ล.1ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 578/2538 ของศาลชั้นต้นก็ตามกลับได้ความจากคำเบิกความกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจเอกสัมฤทธิ์เอกสารหมาย จ.3 ว่า ในชั้นจับกุมบุคคลทั้งเจ็ดอันมีจำเลยทั้งสี่ นายสถิตย์ เนียมทอง นายเอนก ผ่อนตาม และนายวสันต์ให้การปฏิเสธ ดังนั้น ถ้ามีการข่มขู่หรือทำร้ายจริงเหตุใดเจ้าพนักงานตำรวจจึงบังคับแต่เพียงจำเลยที่ 3 ไม่บังคับบุคคลที่ให้การปฏิเสธดังกล่าวให้การรับสารภาพด้วย ส่วนการอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 3 มาเป็นเหตุปฏิเสธพยานหลักฐานโจทก์และการกระทำความผิดนั้น ก็ไม่เป็นกิจลักษณะที่หนักแน่นพอที่จะเชื่อและฟังได้ถึงขนาดจะหักล้างประจักษ์พยานโจทก์ได้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบแสดงให้เห็นว่ามีดและรถจักรยานยนต์ของกลางและรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายตามบันทึกบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.5 ไม่ใช่ของกลางที่ได้ร่วมกันใช้กระทำความผิดหรือไม่ใช่รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย ของกลางเหล่านี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายกับพลทหารสุริยา ซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์โดยปราศจากข้อสงสัย พยานหลักฐานโจทก์ จึงกอปร ด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน