แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นอกจากตัวโจทก์จะมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 150,000 บาท ตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังมีหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้มาแสดง มีเหตุให้น่าเชื่อในเบื้องต้นว่า ฟ้องของโจทก์มีมูลความจริง แม้โจทก์จะไม่มีพยานมาเบิกความให้ได้ความโดยแจ้งชัดว่าจำเลยยังมีเจ้าหนี้รายอื่นหรือจำเลยตั้งใจจะโอน ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของตนเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยักย้ายไปให้พ้นจากอำนาจศาล แต่โจทก์ก็มีผู้ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกันกับจำเลยมาเบิกความยืนยันว่า จำเลยและสามีได้ลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วโดยจำเลยจะได้เงินทดแทนต่าง ๆ หลังจากลาออกประมาณ2 เดือน ซึ่งโจทก์นำสืบว่าจำเลยจะได้รับประมาณ 500,000 บาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่น เมื่อเงินที่จำเลยจะได้รับเป็นทรัพย์ที่จำเลยสามารถปกปิดซ่อนเร้นหรือยักย้ายถ่ายเทได้โดยง่าย การที่จำเลยและสามีลาออกจากการเป็นพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ย่อมทำให้จำเลยไม่มีอาชีพการงานที่แน่นอนมั่นคงหากจำเลยคิดบิดพลิ้วหรือหลีกเลี่ยงย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะติดตามบังคับหากโจทก์ชนะคดีในภายหลัง และกรณีไม่อาจรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยยังมีทรัพย์อื่นอีก ดังนี้เพื่อความยุติธรรม กรณีมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินจำนวนที่จำเลยจะได้รับดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 255 (2) (ข)
คำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 254วรรคหนึ่ง กำหนดให้ทำเป็นคำขอฝ่ายเดียว ซึ่งตามมาตรา 21 (3) ยกเว้นให้ศาลไม่ต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนเฉพาะพยานหลักฐานของโจทก์จึงชอบแล้ว
ตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โจทก์ขอให้อายัดเงินทั้งหมดที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจำนวน 500,000 บาทเศษ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้เพียง 250,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจึงเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นให้มีหมายถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อจัดการส่งเงินที่อายัดไปให้ศาลชั้นต้นโดยที่โจทก์ไม่ได้ขอนั้นก็เป็นการสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการอายัดเงินว่าจะให้ผู้ใดเป็นผู้ส่งมาที่ศาล หาได้เกินคำขอไม่