คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5594/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ตรวจพบว่าสินค้าและเงินในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 สูญหายไป และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับผิดชอบ โจทก์ข่มขู่ว่าจะจับกุมดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 ในข้อหายักยอก จำเลยที่ 1 จึงยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ดังนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ที่พึงใช้สิทธิของตนตามปกตินิยม กรณีหาใช่เป็นการข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะไม่ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลใช้บังคับได้ คู่ฉบับเอกสาร ถือว่าเป็นต้นฉบับเอกสารด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านโจทก์ ปรากฏเงินสดและสินค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ขาดบัญชีจำเลยที่ 1 ยอมชำระคืนแก่โจทก์โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์ และเพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจำนอง นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระบางส่วนแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้บังคับเอากับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โจทก์ได้ยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือขอถอนฟ้องเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับโจทก์นั้น เพราะจำเลยที่ 1 ถูกขู่เข็ญจนจำเลยที่ 1 เกิดความเกรงกลัวและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้สัญญาประนีประนอมยอมความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,922,496.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,782,033.01 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 กุมภาพันธ์2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์หากบังคับจำนองได้เงินชำระหนี้ไม่ครบถ้วนก็ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระหนี้ที่ขาดจนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ข่มขู่ว่าจะจับกุมดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 มีความกลัวว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาอาจถึงแก่ความตายได้หากได้ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะถูกจับกุมและดำเนินคดี จำเลยที่ 1 จึงจำใจยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ การขู่ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นภัยที่อาจใกล้ถึงและร้ายแรง สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำให้โจทก์จึงตกเป็นโมฆียะ ทั้งจำเลยได้บอกล้างแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 และมาตรา 165 การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้นจะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น ส่วนการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามความหมายดังกล่าวการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่า โจทก์ข่มขู่ว่าจะจับกุมดำเนินคดีอาญากับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นได้ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ที่จะพึงใช้สิทธิของตนตามปกตินิยม กรณีจึงหาใช่เป็นการข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นไม่สัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยทำกับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมาว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องนำต้นฉบับเอกสารการจดทะเบียนจำนองมาแสดงต่อศาล แต่โจทก์ก็หาได้นำมาแสดงไม่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังว่า มีการจดทะเบียนจำนองจึงไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อนี้โจทก์อ้างและส่งหนังสือสัญญาจำนองที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งเป็นคู่ฉบับต่อศาลซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นฉบับเอกสารฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,922,496.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,782,033.01 บาท นั้น เห็นว่า เฉพาะต้นเงินจำนวน1,782,033.01 บาท ปรากฏว่าโจทก์ขอต้นเงินในส่วนนี้มาเพียง1,782,003.01 บาท คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเกินคำขอแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,922,496.62บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน1,782,003.01 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share