คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9020/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY” ได้รับการจดทะเบียนไว้ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย จำเลยนำคำว่า “SONY” ไปขอจดทะเบียนใช้เป็นชื่อนิติบุคคลในการจัดตั้งบริษัทว่า “SONYIMPEXCO.LTD.” การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต แสวงหาผลประโยชน์จากชื่อเสียงในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการดังกล่าว ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าการจดทะเบียนใช้ชื่อบริษัทของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18,421 และเป็นการล่วงละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 44,47 หรือไม่ เท่านั้นไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนชื่อบริษัทพ้องกับชื่อบริษัทโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนอันจะมีผลที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1115 เพราะโจทก์มิได้อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนชื่อนิติบุคคลของโจทก์ดังกล่าวไว้ก่อน การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและบังคับตามนัยบทบัญญัติมาตรา 1115 จึงเป็นการพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีนอกเหนือจากคำฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY”และ “โซนี่” ซึ่งใช้กับสินค้าและบริการบางประเภท และใช้เป็นชื่อนิติบุคคลของโจทก์โดยได้มีการโฆษณาเผยแพร่จนมีชื่อเสียงแพร่หลายในหมู่สาธารณชนหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยด้วย และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการในประเทศไทยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อและดวงตรานิติบุคคลจำเลยที่ 1 โดยไม่ใช้คำว่า “SONY” และ “โซนี่” ภายในเวลาที่ศาลกำหนดมิฉะนั้นให้จำเลยที่ 9 มีคำสั่งถอดถอนชื่อและดวงตราดังกล่าว หากจำเลยที่ 9 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาให้ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ใช้ ขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องกับชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY” และ “โซนี่” ดังกล่าวของโจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1

ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมตั้งแต่ก่อนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3ออกจากสารบบความ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 9 เป็นข้าราชการในหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ประดิษฐ์คำว่า “SONY” หรือ “โซนี่” จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 กระทำการโดยสุจริตในการใช้ชื่อดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1เสียใหม่ และให้จำเลยที่ 9 จัดการให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้เงินเดือนละ 5,000 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 กรกฎาคม 2541) เป็นต้นไป จนกว่าจะเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 เสร็จ

จำเลยที่ 9 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเก้าว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้ากับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY” และ “โซนี่”ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยด้วยและมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม2537 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกันนำคำว่า”SONY” และ “โซนี่” ไปขอจดทะเบียนใช้เป็นชื่อนิติบุคคลในการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อว่า “บริษัทโซนี่ อิมเป็กซ์ จำกัด” หรือ “SONY IMPEX CO.LTD.” เป็นชื่อและดวงตราบริษัทจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1ถึงที่ 8 เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต แสวงหาผลประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณความแพร่หลายในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการดังกล่าว เป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของโจทก์ การขอจดทะเบียนชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 เป็นการขัดต่อกฎหมายและระเบียบของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทไม่ชอบที่จำเลยที่ 9 จะรับจดทะเบียนให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1019 และโจทก์มีคำขอบังคับให้ห้ามจำเลยที่ 1 ถึง 8 ใช้ชื่อดังกล่าว ห้ามขอจดทะเบียนหรือเกี่ยวข้องไม่ว่าในทางใดในชื่อและเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการคำว่า”SONY” หรือ “โซนี่” ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึง 8 ร่วมกันจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตราบริษัทจำเลยที่ 1 ใหม่ ถ้าไม่ดำเนินการให้จำเลยที่ 9 ถอนชื่อและดวงตราของบริษัทจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 9ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ300,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 3 โจทก์ขอถอนฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 9 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 9 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 เพราะจำเลยที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการรับจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1019 แล้ว ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนใช้ชื่อบริษัทและดวงตราจำเลยที่ 1 โดยมีคำว่า “SONY” และ “โซนี่” เป็นการล่วงละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18, 421 และเป็นการล่วงละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการของโจทก์ อันเป็นการขัดต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44, 47ไม่ชอบที่จะรับจดทะเบียนให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1019 และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 9 ได้หรือไม่ เท่านั้นไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1พ้องกับชื่อบริษัทโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อน อันมีผลที่จะบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1115 เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนชื่อนิติบุคคลของโจทก์ดังกล่าวไว้ก่อนหากแต่ยืนยันว่าโจทก์เป็นเจ้าของชื่อทางการค้าดังกล่าว และเครื่องหมายการค้ากับเครื่องหมายบริการคำว่า “SONY” ได้รับการจดทะเบียนไว้ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วยการล่วงละเมิดสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้ากับการล่วงละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตามคำฟ้องของโจทก์เป็นคนละเรื่องกับการจดทะเบียนใช้ชื่อนิติบุคคลพ้องกับชื่อบริษัทอื่นอันได้จดทะเบียนไว้แล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1115ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำบทบัญญัติมาตรา 1115 มาวินิจฉัยและมีคำพิพากษาบังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1115 ดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์นอกจากนี้ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ให้ครบ เป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษา ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งจึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาใหม่เสียก่อน”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share