คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7000/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงิน ประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าโดยให้กู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน ซื้อลดเช็ค หรือด้วยประการอื่นที่ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้า โดยรับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ย่อมสามารถทำธุรกิจกับโจทก์ได้ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวิธีใดเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืมเงิน และขายลดเช็คแก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ค้ำประกันการชำระหนี้และจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าประกันหนี้ประเภทไหนรายการใดมูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ การที่โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 1 ก. จึงชอบแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและทำคำสั่งคำร้องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เองจึงไม่ชอบ ต้องเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์แล้ว ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหนี้กู้ยืมและหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คแก่โจทก์สำนักงานใหญ่ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 46,130,302.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 34,321,060.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 236202 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอคลองเตย (พระโขนง)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2537 โดยมิได้มีระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีตัดทอนกับโจทก์เรื่อยมา สัญญายังมีผลบังคับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์จริง แต่มีการชำระหนี้บางส่วนและดอกเบี้ยโจทก์คำนวณมานั้นไม่ถูกต้อง การบอกเลิกสัญญาจำเลยมิได้รับหนังสือบอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนสัญญาขายลดเช็คจำเลยทั้งสองรับว่าได้ทำไว้กับโจทก์จริงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2538 และเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 จำเลยทั้งสองได้นำเช็คของลูกค้ามาขายลดให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งหมดของลูกค้าได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงินจากธนาคาร โจทก์ได้ยึดหน่วงเช็คทั้งหมดและไม่ยอมส่งคืนให้จำเลยเพื่อเรียกร้องทวงถามหรือดำเนินการฟ้องร้องแก่ลูกค้าของจำเลย ทำให้จำเลยเสียสิทธิ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะไม่มีหลักฐานแห่งหนี้ในการที่จะไปเรียกร้องได้ และการบรรยายฟ้องเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์คำนวณยังผิดพลาด ขอให้ยกฟ้อง

ในระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมและสัญญาขายลดเช็ค ซึ่งหนี้ดังกล่าวสามารถแยกจากกันได้ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาเพียง 200,000 บาท จึงให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจำนวน325,925 บาท ภายใน 30 วัน

โจทก์วางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก 325,929 บาท และทำคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 9,121,083.90 บาท และตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 3,504,699.39 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ของยอดหนี้ดังกล่าวตามลำดับ นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 และวันที่ 20 สิงหาคม 2539 ตามลำดับเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้นำเงินจำนวน 838,146.12 บาท และจำนวน 137,702.92 บาท ที่จำเลยชำระในวันที่ 20 มิถุนายน 2540 หักออกจากหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้างต้นด้วย และชำระเงินตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 18,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2539 ของต้นเงิน2,000,000 บาท นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2539 ของต้นเงิน 6,600,000 บาท นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2539 ของต้นเงิน 2,700,000 บาท นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2539 ของต้นเงิน 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2539 และของต้นเงิน 3,500,000บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองโฉนดเลขที่ 236202 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอคลองเตย (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองนำไปชำระหนี้โจทก์จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์แล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาต

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องไม่สามารถแยกจากกันได้ โจทก์จึงรวมฟ้องมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลตามอัตราสูงสุดได้นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะโดยการให้กู้เบิกเงินเกินบัญชีกู้ยืมเงิน ซื้อลดเช็ค หรือด้วยประการอื่นที่สามารถทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้าโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่น จำเลยทั้งสองเป็นลูกค้าโจทก์ย่อมสามารถทำธุรกิจกับโจทก์ได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีกู้ยืมเงิน และขายลดเช็คแก่โจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกัน แต่ทุกประการล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง จำเลยที่ 2 จึงเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตลอดจนจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ก่อขึ้นทั้งหมดโดยมิได้แบ่งแยกว่าประกันหนี้ประเภทไหน รายการใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาในคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 1 ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์นั้น ศาลฎีกา เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และอนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและทำคำสั่งคำร้องดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสีย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ พิเคราะห์คำร้องและพยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์แล้ว อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้ร้อง เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้”

พิพากษากลับ ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาทแก่โจทก์

Share