คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726 นั้น. การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก. และเสียงข้างมากดังกล่าวนี้มิได้มีกฎหมายบังคับว่าต้องจัดให้มีการประชุมผู้จัดการมรดกเพื่อปรึกษาออกเสียงกันโดยตรงในกรณีที่ผู้จัดการมรดกเห็นควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการมรดก. และปรากฏว่าได้แจ้งไปยังผู้จัดการมรดกทุกคนแล้ว มีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก. ความเห็นส่วนข้างมากนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการไปตามนั้น.ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากก็อาจดำเนินการไปในนามของผู้จัดการมรดกทั้งคณะได้. การรวบรวมทรัพย์มรดกก็ตาม ก็เป็นการจัดการมรดก บุคคลภายนอกหากได้ทราบความเห็นหรือเสียงข้างมากที่ให้เรียกทรัพย์มรดกนั้นแล้ว. ก็ต้องรับรู้และยินยอมให้ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากรับทรัพย์มรดกไป.จะเกี่ยงให้ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากนำผู้จัดการมรดกส่วนข้างน้อยเข้ามาร่วมจัดการด้วยหาได้ไม่.
ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นละเมิด. แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่เป็นละเมิด. จะถือได้อย่างมากเพียงแต่เป็นการผิดสัญญา. ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1. ส่วนจำเลยที่ 2,3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1. แล้วพิพากษายืนในข้อที่ให้จำเลยที่ 2, 3ร่วมเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นด้วยนั้น.เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161. และไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะแก้ไข.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและนายสง่า ณ ระนอง เป็นผู้จัดการมรดกของพระยาประดิพัทธภูบาลตามคำสั่งศาล โจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1แจ้งรายการเงินฝากจำนวนหุ้น และขอตรวจทรัพย์ที่พระยาประดิพัทธภูบาลฝากจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ เป็นการละเมิด จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยยอมให้โจทก์ตรวจและรับทรัพย์มรดกของพระยาประดิพัทธภูบาล และให้จำเลยเสียค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า ศาลแต่งตั้งโจทก์ทั้งสามและนายสง่า ณ ระนองร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก จึงต้องกระทำการร่วมกันทั้ง 4 คน โจทก์ทั้งสามจะแยกกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกตามลำพังไม่ได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ในการทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นสำคัญ โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก จึงมีอำนาจกระทำการตามหน้าที่ได้ การที่จำเลยขัดขวางหรือกักทรัพย์มรดกไว้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อฟังว่ามีการละเมิดแล้ว ก็ต้องถือว่าเสียหายศาลกำหนดค่าเสียหายให้ได้ตามสมควร ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างมากย่อมกระทำการในหน้าที่ผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1726 แต่การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสามตรวจและรับทรัพย์สินไปนั้น จำเลยมิได้จงใจกระทำโดยผิดกฎหมาย อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420 หากแต่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะจัดการมรดกได้ตามลำพัง จะถือได้อย่างมากก็เพียงเป็นการผิดสัญญาเช่าตู้นิรภัยจากจำเลยเท่านั้น โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1726บัญญัติว่า “ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก ฯลฯ” นั้นหมายความว่าการทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากและเสียงข้างมากดังกล่าวนี้มิได้มีกฎหมายบังคับว่าต้องจัดให้มีการประชุมผู้จัดการมรดกเพื่อปรึกษาออกเสียงกันโดยตรง ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดกเห็นควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการมรดกและปรากฏว่าได้แจ้งไปยังผู้จัดการมรดกทุกคนแล้ว มีผู้เห็นด้วยเป็นส่วนมาก ความเห็นเสียงข้างมากนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากตกเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการไปตามนั้น ซึ่งผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากก็อาจดำเนินการไปในนามของผู้จัดการทั้งคณะได้ การดำเนินคดีก็ตาม การรวบรวมทรัพย์มรดกตาม ก็เป็นการจัดการมรดก ถึงหากจะต้องใช้สิทธิต่อบุคคลภายนอก ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากย่อมจัดการไปได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 661/2506 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โจทก์ นายโต๊ะเล็ก ชมเผ่า โจทก์ร่วมนายดอเลาะ พูนสวัสดิ์ กับพวก จำเลย และที่ 751/2508 คดีระหว่างมัสยิดรุ้ลมู่ฮิบบิน โดยคณะกรรมการ โจทก์ นายตอฮา บุญเพ็ชร กับพวกจำเลย บุคคลภายนอกที่จะต้องส่งทรัพย์มรดกให้ผู้จัดการมรดกรับไปจัดการ หากได้ทราบความเห็นหรือเสียงข้างมากที่ให้เรียกทรัพย์มรดกนั้นแล้ว ก็ต้องรับรู้และยินยอมให้ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากรับทรัพย์มรดกไป จะเกี่ยงให้ผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากนำผู้จัดการมรดกส่วนข้างน้อยเข้ามาร่วมจัดการด้วยหาได้ไม่ คดีนี้ปรากฏว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกส่วนข้างมากจะขอตรวจและรับทรัพย์มรดกของพระยาประดิพัทธภูบาลในตู้นิรภัยไป จำเลยไม่ขัดข้อง และแนะนำให้เชิญนายสง่า ณ ระนอง มาด้วย โจทก์ทั้งสามได้พยายามขอร้องให้นายสง่า ณ ระนอง มาตามที่จำเลยแนะนำหลายครั้งหลายคราว นายสง่า ณ ระนอง ตอบปฏิเสธไม่ยินยอมทุกครั้งโจทก์ทั้งสามก็ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบถึงพฤติการณ์นี้แล้วเพื่อขอตรวจและรับทรัพย์มรดกของพระยาประดิพัทธภูบาลไปจัดการอีกเห็นได้ว่าในการนี้ได้มีเสียงข้างมากของผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการตรวจและรับทรัพย์มรดกไป จำเลยได้ทราบเสียงข้างมากนี้แล้ว จำเลยก็ต้องให้การจัดการมรดกเป็นไปตามเสียงข้างมากนั้น โดยยอมให้โจทก์ทั้งสามทำการตรวจรับทรัพย์มรดกไปได้ จะยกเหตุที่นายสง่า ณ ระนองไม่มาร่วมดำเนินการด้วยมาเป็นข้อขัดข้องมิได้ ทั้งนี้ นายสง่าณ ระนอง จะปฏิเสธไม่ยอมมาดำเนินการโดยมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จะถือได้อย่างมากเพียงแต่เป็นการผิดสัญญาเช่าตู้นิรภัยซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยอย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในข้อที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นด้วย เป็นการคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 และไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะแก้ไข ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย.

Share