คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ ของบริษัทล.โดยจำเลยไม่บรรยายฟ้องถึงวงเงินที่โจทก์ค้ำประกัน และได้บรรยายต่อไปว่าโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยภายในวงเงิน 200,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ประสงค์ให้บริษัทล.กู้เงินอีกต่อไปจึงเรียกให้บริษัทล.ชำระหนี้เป็นเงิน15,332,017.82 บาท โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวจำเลยตีราคาทรัพย์จำนองเป็นเงิน 316,500 บาท เมื่อหักกับจำนวนหนี้แล้วโจทก์ยังต้องรับผิด ร่วมกับบริษัทล.อีก 15,015,517.82 บาท ตอนจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองก็แจ้งระบุว่ามีหนี้ค้างชำระณวันที่ 15 กรกฎาคม 2534 เป็นเงิน 14,904,532 บาท ในชั้นพิจารณาคดีล้มละลายผู้รับมอบอำนาจจำเลยก็เบิกความว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับบริษัทล.ถึงวันฟ้องคดีล้มละลายเป็นเงิน 15,332,071.82 บาททั้ง ๆ ที่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของโจทก์มีเพียงไม่เกิน 1,000,000 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวและสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทก็ทำขึ้นตามแบบพิมพ์ ของจำเลย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและพิพากษาให้โจทก์ เป็นบุคคลล้มละลายเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อในการคำนวณยอดหนี้ของโจทก์ และใช้สิทธิในการฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาค้ำประกันนั้น โจทก์และส.ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของบริษัทล.โดยยอมเข้าร่วมรับผิดร่วมกับบริษัทล.ความรับผิดระหว่างโจทก์กับส.ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 682 วรรคสอง ส่วนการที่โจทก์และ ส.ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้ โดยยอมร่วมรับผิดร่วมกับบริษัทล.ผู้เป็นลูกหนี้นั้น มีผลเป็นการสละสิทธิบางประการ ที่ผู้ค้ำประกันอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้น หน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้และต่อผู้ค้ำประกัน ยังคงมีอยู่ตามเดิม เหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของผู้ค้ำประกันเป็นผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ ในส่วนหนี้ที่ยังเหลือนั้นลูกหนี้ยังคงต้องรับผิด ต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 685 โจทก์และส.ค้ำประกันหนี้ของบริษัทล.ภายในวงเงิน 1,000,000 บาทความรับผิดของโจทก์และ ส. ย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวนเงิน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 1,000,000 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทล.ต้องรับผิดต่อจำเลย แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย ส.ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้จำเลย 1,800,000 บาท และจำเลยปลดหนี้ ค้ำประกันให้ ส.ทำให้โจทก์ซึ่งมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับส.ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ของส.ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง,293 โจทก์ทำสัญญาจำนองแก่จำเลยเป็นประกันเงินกู้และหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของบริษัทล.และหรือของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท แม้บริษัทล.เป็นหนี้จำเลยอยู่ ในขณะที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายเป็นเงิน 15,332,019.82 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาจำนองในวงเงิน 200,000 บาท และดอกเบี้ย ที่คิดจากต้นเงิน 200,000 บาท ตามอัตราที่บริษัทล.ต้องรับผิดต่อจำเลยเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยฟ้องเท็จต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีล้มละลาย หมายเลขดำที่ ล.49/2536 ว่าโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทลาภินีเทรด จำกัด และจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 123360 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้จำเลยเป็นเงิน 15,332,017.82 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายและจำเลยได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 123360 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 880,000 บาท ความจริงโจทก์มิได้เป็นหนี้จำเลยเพราะได้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยจำเลยถอนฟ้องการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยังมิได้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองและโจทก์ไม่มีทรัพย์สินอื่นใด ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยจึงใช้สิทธิฟ้องคดีล้มละลายโดยสุจริตมิได้ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ทำสัญญาตั๋วสัญญาชำระเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวกับจำเลย ตามหนังสือสัญญาพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.8 โจทก์และนางสุรีย์ กิจเภาสงค์ ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวต่อจำเลยในวงเงิน 1,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 โจทก์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 123360 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 200,000 บาท เป็นประกันหนี้ดังกล่าวและหนี้ส่วนตัวของโจทก์ต่อจำเลยอีกด้วย ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย ล.3 ส่วนนางสุรีย์จำนองที่ดิน 2 แปลง เป็นประกันบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลย นางสุรีย์ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 1,800,000 บาท จำเลยรับชำระหนี้แล้วได้ปลดหนี้ค้ำประกันและไถ่ถอนจำนองให้นางสุรีย์ โจทก์ไม่เคยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองดังกล่าวให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายตามสำนวนคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.152/2536 ของศาลชั้นต้นซึ่งขณะนั้นบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด เป็นหนี้จำเลย 15,332,017.82 บาท
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยได้ใช้สิทธิฟ้องคดีล้มละลายโดยสุจริตหรือไม่ และโจทก์ยังผูกพันต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 นั้น โจทก์และนางสุรีย์ร่วมกันค้ำประกันหนี้ของบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ภายในวงเงิน 1,000,000 บาท โดยยอมเข้าร่วมกับบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ความรับผิดระหว่างโจทก์กับนางสุรีย์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง ส่วนการที่โจทก์และนางสุรีย์ ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อจำเลยผู้เป็นเจ้าหนี้โดยยอมรับผิดร่วมกับบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ผู้เป็นลูกหนี้นั้น มีผลเป็นการสละสิทธิบางประการที่ผู้ค้ำประกันอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะค้ำประกันเท่านั้น หน้าที่ความรับผิดของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้และต่อผู้ค้ำประกันยังคงมีอยู่ตามเดิม เหตุหลุดพ้นจากหนี้ที่ค้ำประกันของผู้ค้ำประกันเป็นผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นเฉพาะในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ในส่วนหนี้ที่ยังเหลือนั้นลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 685 เมื่อโจทก์และนางสุรีย์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ภายในวงเงิน 1,000,000 บาท ความรับผิดของโจทก์และนางสุรีย์ย่อมจำกัดอยู่เพียงจำนวนเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 1,000,000 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ต้องรับผิดต่อจำเลย แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดได้ตามกฎหมายการที่นางสุรีย์ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้จำเลย 1,800,000 บาท และจำเลยปลดหนี้ค้ำประกันให้นางสุรีย์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2533 ตามเอกสารหมาย ล.4 ทำให้โจทก์ซึ่งมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนางสุรีย์ได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้ของนางสุรีย์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 292 วรรคหนึ่ง, 293 ดังนั้น ถึงอย่างไรโจทก์ก็คงรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาค้ำประกันไม่ถึง 1,000,000 บาท ต่อมาอีก 2 ปี 11 เดือน 23 วัน จำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายไม่ว่าจะคำนวณดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่โจทก์ยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอย่างไรยอดหนี้รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องคดีล้มละลายก็ไม่มีทางถึง 15,332,017.82 บาท ตามที่จำเลยฟ้อง ส่วนหนี้ตามสัญญาจำนองนั้น ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย ล.3 โจทก์ทำสัญญาจำนองแก่จำเลยเป็นประกันเงินกู้และหรือหนี้สินประเภทอื่น ๆ ของบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด และหรือของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท แม้บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด เป็นหนี้จำเลยอยู่ในขณะที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายเป็นเงิน 15,332,019.82 บาท ก็ตาม แต่โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามสัญญาจำนองในวงเงิน 200,000 บาท และดอกเบี้ยที่คิดจากต้นเงิน 200,000 บาท ตามอัตราที่บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ต้องรับผิดต่อจำเลยแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี เท่านั้น และหนี้ดังกล่าวนายวิชัย มณีสว่าง ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายและเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสินทรัพย์ของจำเลยก็มาเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า หลักทรัพย์ที่โจทก์จำนองไว้มีราคาประมาณ 300,000 บาท เมื่อพิจารณาสัญญาจำนองแล้วมูลหนี้ตามสัญญาจำนองในขณะนั้นเมื่อเทียบเคียงกันมีราคาใกล้กับราคาที่ดินที่จำนองเป็นประกันการที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด โดยจำเลยไม่บรรยายฟ้องถึงวงเงินที่โจทก์ค้ำประกัน และได้บรรยายต่อไปว่าโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยภายในวงเงิน 200,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ประสงค์ให้บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด กู้เงินอีกต่อไปจึงเรียกให้บริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ชำระหนี้เป็นเงิน 15,332,017.82 บาท โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าว จำเลยตีราคาทรัพย์จำนองเป็นเงิน 316,500 บาท เมื่อหักกับจำนวนหนี้แล้วโจทก์ยังต้องรับผิดร่วมกับบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด อีก 15,015,517.82 บาท ตอนจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองก็แจ้งระบุว่ามีหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2534 เป็นเงิน 14,904,532 บาท ในชั้นพิจารณาคดีล้มละลายนายวิชัยผู้รับมอบอำนาจจำเลยก็เบิกความว่า โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับบริษัทลาภิณีเทรด จำกัด ถึงวันฟ้องคดีล้มละลายเป็นเงิน 15,332,071.82 บาท ทั้ง ๆ ที่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของโจทก์มีเพียงไม่เกิน 1,000,000 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวตามที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น และสัญญาค้ำประกันหนี้สินทุกประเภทตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 ก็ทำขึ้นตามแบบพิมพ์ของจำเลย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อในการคำนวณยอดหนี้ของโจทก์และใช้สิทธิในการฟ้องคดีล้มละลายโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับหนี้ตามสัญญาจำนองนั้น เมื่อจำเลยถอนฟ้องคดีล้มละลายและโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้แก่จำเลย โจทก์จึงยังต้องรับผิดในต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยไม่มีหน้าที่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้รับความเสียหายนั้น ได้ความว่าผลจากการที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ในคดีล้มละลายและศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายโจทก์ต้องถูกยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความมาดำเนินการในการขอพิจารณาคดีล้มละลายใหม่และคัดค้านการขายทอดตลาดทั้งโจทก์เองก็เป็นข้าราชการบำนาญ เดิมโจทก์ขอเรียกค่าเสียหายมาจำนวน 4,000,000 บาท แต่ในชั้นฎีกาโจทก์ได้ลดค่าเสียหายลงเหลือ 200,100 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนที่เหมาะสม จึงกำหนดค่าเสียหายให้จำนวน 200,100 บาท ตามที่โจทก์ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share