คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภริยาจดทะเบียนหย่าขาดกันที่อำเภอ บันทึกหลังทะเบียนการหย่าที่ว่าในเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการสมรสทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันเรียบร้อยก่อนมาจดทะเบียนหย่านั้น ถือได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยานั้นแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยทำการสมรสกันเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม2489 มีสินเดิมทั้งสองฝ่าย และอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตลอดมา ต่อมาโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนการหย่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2497 แต่ยังไม่แยกจากกัน ยังคงอยู่กินเป็นสามีภรรยาครอบครองทรัพย์สินอันเป็นเจ้าของร่วมกันสืบต่อมาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสใหม่ จนถึง พ.ศ. 2502จึงแยกกันอยู่ โดยโจทก์ย้ายไปรับราชการต่างจังหวัด และให้บุตรสาวโจทก์ดูแลทรัพย์สินแทน จำเลยเป็นผู้เก็บเงินเดือนและรายได้ของโจทก์สะสมไว้ จนมีสินสมรสและทรัพย์สินอันเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 125,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่ง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์ตามบัญชีอันดับ 2 ถึง 9ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากแบ่งกันไม่ได้ก็ให้ขายโดยประมูลราคากันมิฉะนั้นก็ให้จัดการขายทอดตลาดแล้วแบ่งส่วนให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกหลังทะเบียนการหย่าซึ่งมีความว่า ในเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการสมรส ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันเรียบร้อยก่อนมาจดทะเบียนหย่านี้แล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือของสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลย ใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 ทั้งข้อความแห่งบันทึกนี้ต้องตีความตามนัยแห่ง มาตรา 1512(ก) ฉะนั้น ข้อความที่ว่าได้ตกลงกันก่อนมาจดทะเบียน ย่อมแปลความได้ว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะให้ความตกลงนี้เป็นผลของการหย่า ส่วนที่ว่าได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสและการหย่า ก็ต้องตีความว่าได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และต่างจะไม่เรียกร้องซึ่งกันและกันอย่างใดอีก พิพากษายืน

Share