คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีหน้าที่เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตลอดจนการใช้เครื่องอุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ลูกจ้างเดินเครื่องกำเนิดไฟเพื่อทดลองเครื่อง อันเป็นการกระทำเพื่อจะติดเครื่องไฟฟ้าใช้ตามปกติ ได้เกิดไฟชอร์ทเพราะสายไฟชำรุด ไฟได้ลุกลามไหม้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย นายจ้างจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายซึ่งลูกจ้างเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะเป็นการกระทำในทางการที่จ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ควบคุมปิดเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เป็นคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 3 บางครั้งมีหน้าที่ควบคุมและปิดเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแทนจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1, 2 เปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1, 2 ไม่ดูความเรียบร้อยของสายไฟก่อนเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อเดินเครื่องเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าจึงทำให้เกิดไฟชอร์ท เนื่องมาจากสายไฟชำรุดและเสื่อมคุณภาพโดยยางหุ้มสายไฟขาด เหลือแต่ลวดทองแดงประกายไฟที่เกิดจากการชอร์ทได้ไหม้ปอของจำเลยที่ 3 แล้วลุกลามไปไหม้บ้านพักของโจทก์ ทรัพย์สินของโจทก์ถูกไฟไหม้คิดเป็นเงิน 20,340 บาท จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1, 2 ในฐานะนายจ้าง

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธจำเลยที่ 3 ให้การว่าไม่ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจึงเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเดินไฟพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1, 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,715 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1, 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 7,655 บาท นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เกี่ยวกับการปิดเปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตลอดจนการใช้เครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟ และได้ความว่าการที่จำเลยที่ 1 เดินเครื่องกำเนิดไฟอันทำให้เกิดไฟไหม้นั้น ได้ทำไปเพื่อทดลองเครื่อง เพื่อจะได้รู้ว่าใช้การได้สะดวกดีหรือไม่ หรือจะมีการขัดข้องควรแก้ไขเครื่องประการใด นั้น ย่อมอยู่ในเรื่องการปฏิบัติตามหน้าที่ในทางการที่จ้างนั่นเองที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำการไปตามหน้าที่ทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว

ส่วนในเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เสียหายเพียง 3,555 บาท

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้เงินแก่โจทก์ 3,555 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share