คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คพิพาทเป็นเช็คค่ามัดจำการซื้อขายที่ดิน เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของโจทก์ไม่ได้ความว่า โจทก์มีสิทธิจัดเอาเช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้บางส่วนหรือเป็นการริบมัดจำ ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีความผูกพันหรือมีหนี้ที่มีอยู่จริงที่จะต้องใช้เงินตามเช็คคดีของโจทก์จึงไม่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัดสำนักงานใหญ่สีลม ลงวันที่ 2 มกราคม 2534 จำนวน 58,482,000 บาทมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งนี้จำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้โจทก์จะมีเช็คพิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายไว้ในครอบครอง ทางไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ก็ต้องได้ความด้วยว่าจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องใช้เงินตามเช็คแต่ทางไต่สวนได้ความเพียงว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค่ามัดจำการซื้อขายที่ดินที่จำเลยเป็นผู้ซื้อและสั่งจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายโดยไม่ได้ความว่าหลังจากการทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว สัญญาซื้อขายที่ดินยังคงมีอยู่หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยหรือฝ่ายใดปฏิบัติผิดสัญญาอันจะมีผลให้ส่งคืนหรือจัดเอาเป็นการชำระหนี้บางส่วนหรือให้ริบตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378 การที่โจทก์นำเช็คพิพาทซึ่งเป็นค่ามัดจำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินยังไม่อาจจะคาดหมายได้ว่าโจทก์มีสิทธิจัดเอาเช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้บางส่วนหรือเป็นการริบมัดจำเพราะอาจฟังได้ว่าโจทก์จะต้องส่งคืนก็เป็นได้ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยมีความผูกพันหรือมีหนี้ที่มีอยู่จริงที่จะต้องใช้เงินตามเช็คดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share