แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือความรับผิดของโจทก์ย่อมเป็นเพียงอาวัลผู้สั่งจ่ายเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่ผู้ทรงไปแล้วย่อมเกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะไล่เบี้ยเอาจากผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคท้ายเป็นสิทธิที่มีลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้วย่อมเกิดสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพราะการค้ำประกันนั้น ตามมาตรา 693 วรรคแรก หาใช่สิทธิการรับช่วงสิทธิอื่นเหนือลูกหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองไม่เป็นสิทธิที่เกิดจากนิติกรรมการอาวัลหรือค้ำประกันนั้นเองหาได้รับช่วงสิทธิของผู้ทรงที่มีอยู่ต่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมาไม่ เป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ซึ่งเป็นบททั่วไปและมีอายุความ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคม 2527 จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาถนนประดิพัทธ์2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 19 ตุลาคม 2527 จำนวนเงิน 91,675.50 บาทฉบับที่สองลงวันที่ 23 ตุลาคม 2527 จำนวนเงิน 14,960 บาทรวมเป็นเงิน 106,635.50 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาโจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปขายลดให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาตรอกจันทร์ โดยโจทก์ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไว้เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2527 และวันที่ 24ตุลาคม 2527 ตามลำดับโจทก์ชดใช้เงินตามเช็คให้ธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาตรอกจันทร์ไปแล้ว และทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ธนาคารปฎิเสธ การจ่ายเงินถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 133,293.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 106,635.50 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้งสองฉบับตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่ตั๋วเงินถึงกำหนดชำระ คดีของโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า คดีมีอายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (ปัจจุบันคือมาตรา 193/30) คือ 10 ปีหรือไม่นั้นเห็นว่า โจทก์ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือความรับผิดของโจทก์ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่ายเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่ผู้ทรงไปแล้วย่อมเกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะไล่เบี้ยเอาจากผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นบุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้ตามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 วรรคท้าย เป็นสิทธิที่มีลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้วย่อมเกิดสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพราะการค้ำประกันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193 วรรคแรกหาใช่สิทธิการรับช่วงสิทธิอื่นเหนือลูกหนี้ตามมาตรา 693 วรรคสองไม่เป็นสิทธิที่เกิดจากนิติกรรมการอาวัลหรือค้ำประกันนั้นเองหาได้รับช่วงสิทธิของผู้ทรงที่มีอยู่ต่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมาไม่เป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(ปัจจุบันคือมาตรา 193/30) ซึ่งเป็นบททั่วไปและมีอายุความ 10 ปีคดีโจทก์ยังไม่พ้นกำหนดอายุความดังกล่าว จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น จำเลยต้องรับผิดตามฟ้อง”
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 106,635.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 91,675.50 บาทและ 14,960 บาท นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2527 และวันที่24 ตุลาคม 2527 ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531) ต้องไม่เกิน 26,658บาท ตามคำขอของโจทก์