แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ผู้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยถ้อยคำซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และจำเลยที่2บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งได้ลงข้อความที่จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่2ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยจึงเป็นความผิดเกี่ยวพันกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา24(2)แม้ว่าจำเลยที่1จะให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพมหานครแต่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นได้ออกวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรซึ่งรวมทั้งจังหวัดประทุมอันถือว่าความผิดได้เกิดในจังหวัดปทุมธานีด้วยโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่1และที่2ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา22และมาตรา24ศาลจังหวัดปทุมธานีมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่2ก็หามีผลทำให้ศาลจังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ในวันนัดพร้อม ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานจึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้ลงข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์หมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2535ออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย กรณีตามคำฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดเกี่ยวพันกันโดยความผิดฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24(2)ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่แขวงป้อมปราบเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร อันความผิดเกิดในกรุงเทพมหานคร ก็ตาม แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่จำเลยที่ 2 ลงข้อความที่จำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์นั้นออกจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรซึ่งรวมทั้งจังหวัดปทุมธานี อันถือว่าความผิดได้เกิดในจังหวัดปทุมธานีด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 และมาตรา 24 ศาลจังหวัดปทุมธานีมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้ แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ก็หามีผลทำให้ศาลจังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปไม่
พิพากษายืน