แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 ให้นิยามของ “การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่า “การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี” และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการทำงานของลูกจ้างที่จะเป็นการทำงานล่วงเวลาจึงต้องเป็นกรณีที่เป็นความประสงค์ของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยลูกจ้างให้ความยินยอมก่อนเป็นคราวๆ ไป และจะต้องเป็นการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะใด นายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นหากนายจ้างจะออกคำสั่งในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา แล้ววินิจฉัยว่าถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา จึงชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้นแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา 29,656.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2546 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ตำแหน่งพนักงานการเงิน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,750 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เวลาทำงานปกติของโจทก์คือเริ่มงานเวลา 8 นาฬิกา พัก 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 12 นาฬิกา ถึง 13 นาฬิกา เลิกงานเวลา 17 นาฬิกา ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2547 โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย ระหว่างทำงานโจทก์บันทึกเวลาออกจากงานหลังเวลาทำงานปกติไปบ้างแต่จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา แล้ววินิจฉัยว่า กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่าการทำงานของโจทก์หลังเวลา 17 นาฬิกา ซึ่งเกินเวลาทำงานปกตินั้น เป็นการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ และศาลแรงงานกลางไม่ได้นำข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 576 มาพิจารณานั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้นิยามของ “การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่า “การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตาม มาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี” และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการทำงานของลูกจ้างที่จะเป็นการทำงานล่วงเวลาจึงต้องเป็นกรณีที่เป็นความประสงค์ของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา โดยลูกจ้างให้ความยินยอมก่อนเป็นคราวๆ ไป และจะต้องเป็นการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด เมื่อนายจ้างประสงค์ให้มีการทำงานล่วงเวลาในช่วงระยะใดนายจ้างจะต้องทำความตกลงกับลูกจ้างโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้มีสาระสำคัญครบถ้วนถึงกำหนดช่วงระยะการเริ่มต้นและการสิ้นสุดของการทำงานล่วงเวลาไว้ก่อนล่วงหน้า หลังจากนั้นนายจ้างจะออกคำสั่งในเรื่องการทำงานล่วงเวลาอีกก็ต้องให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลา แล้ววินิจฉัยว่าถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานล่วงเวลา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา จึงชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้นแล้ว ดังนั้น การจะวินิจฉัยว่าการทำงานของโจทก์หลังเวลาทำงานปกติเป็นการทำงานล่วงเวลาหรือไม่ และศาลแรงงานกลางจะต้องนำข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 576 มาพิจารณาหรือไม่ ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางได้ อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองประการจึงเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์