คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคีตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ โดยไม่ปรากฏว่ามีประกาศกำหนดให้คีตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ อันจะมีผลให้การมีคีตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 และไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อีกต่อไป จึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 ไม่ได้ กรณีนี้มิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 3 แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลยคนละฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอใหลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 62, 106, 106 ทวิ, 116 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ, 116 จำคุก 5 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ริบคีตามีนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ทวิ ซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิด แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 มีระวางโทษเบากว่า จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคีตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ทวิ โดยไม่ปรากฏว่ามีประกาศกำหนดให้คีตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะมีผลให้การมีคีตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 67 ไม่ได้ กรณีนี้มิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่เป็นกรณีบังคับใช้กฎหมายลงโทษจำเลยคนละฉบับ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share