คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 901/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ถูกกล่าวหาไปพบผู้พิพากษา หัวหน้า ศาลชั้นต้นที่บ้านพักเพื่อขอร้องให้ช่วยปล่อยชั่วคราวหรือรอการลงโทษเพื่อต้องการช่วยเหลือ พ. ซึ่งเป็นหลานโดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เสนอผลประโยชน์เป็นเงินแก่ ผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลชั้นต้นแต่อย่างใด และเมื่อ ผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลชั้นต้นปฏิเสธและแนะนำให้ไปปรึกษาทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาก็กลับไปโดยดี ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหา ได้กล่าวรับรองต่อ พ. ว่าศาลชั้นต้นจะให้ปล่อยชั่วคราวหรือตัดสินรอการลงโทษให้แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นในชั้นฎีกา พ. ยังได้ทำบันทึกด้วยลายมือของตนเองยืนยันว่าตนไม่เคยให้เงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นคดีแต่อย่างใด ผู้ถูกกล่าวหาได้ช่วยเหลือโดยสุจริตใจเพราะเป็นญาติกัน โดยมีศักดิ์ เป็นอาและด้วยความสงสารลูกของ พ. จึงเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นกระทำไปโดยสุจริตด้วยเจตนา ที่จะช่วยเหลือ พ. ซึ่งเป็นญาติกันตามสมควร ทั้งไม่ปรากฏว่าได้เรียกร้องหรือรับผลประโยชน์ เป็นเงินตอบแทนแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก นางเพ็ญศรีหรือติ๋ว สำลีว่องหรือคนสุภาพถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 442/2541 หมายเลขแดงที่ 467/2541 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเงินตราศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ลงโทษจำคุกนางเพ็ญศรี 3 ปี ในวันดังกล่าวนายดาบตำรวจพยัพตั้งอั้น ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจและรักษาความปลอดภัยประจำศาลจังหวัดหลังสวน ขณะกำลังคุมตัวนางเพ็ญศรีออกจากห้องพิจารณาเพื่อกลับเข้าห้องควบคุมของศาลนางเพ็ญศรี พูดกับนายดาบตำรวจพยัพว่า จ่าสิบตำรวจสมพล พัฒนวิเชียร ผู้ถูกกล่าวหารับปากว่าจะวิ่งเต้นในเรื่องประกันตัวและเรื่องคดีทั้งได้เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ถูกกล่าวหามากแล้ว แต่ไม่เห็นว่าจะได้ผลอะไร และผู้ถูกกล่าวหายังรับปากว่าจะวิ่งเต้นในชั้นอุทธรณ์ให้อีก นอกจากนี้นางเพ็ญศรีเคยพูดในลักษณะเดียวกัน ต่อนายดาบตำรวจไพฑูรย์ มันทรานนท์ และนายดาบตำรวจโกสิน สุวรรณชาติ ว่าเสียเงินไปเป็นแสนแล้วแต่ยังประกันตัวไม่ได้และยังต้องติดคุก นายดาบตำรวจพยัพเกรงว่าจะมีผู้หลอกลวงนางเพ็ญศรีโดยแอบอ้างศาลเพื่อหาผลประโยชน์ อันอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นแก่ศาลและผู้พิพากษา จึงทำบันทึกข้อเท็จจริงเสนอต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1), 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15จึงให้จำคุกร้อยตำรวจตรีหรือจ่าสิบตำรวจหรือนายสมพล พัฒนวิเชียรผู้ถูกกล่าวหา 2 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านางเพ็ญศรีหรือติ๋ว สำลีว่องหรือคนสุภาพ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 467/2541 ของศาลชั้นต้นถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี ในความผิดเกี่ยวกับเงินตรา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์2541 ซึ่งก่อนหน้านั้นในชั้นฝากขัง นายอวยชัย คนสุภาพอดีตสามีของนางเพ็ญศรีได้พาผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมีศักดิ์ เป็นอาของนางเพ็ญศรีมาเยี่ยมนางเพ็ญศรีที่ห้องควบคุมผู้ต้องหาของศาลชั้นต้น และรับปากนางเพ็ญศรีว่า จะช่วยเหลือติดต่อให้ศาลชั้นต้นสั่งปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา หลังจากนั้นผู้ถูกกล่าวหาและนายอวยชัยได้ไปพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นที่บ้านพักและสอบถามว่าลูกหลานถูกจับ มีทางช่วยเหลือได้หรือไม่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นให้กลับไปหาทนายความเมื่อผู้ถูกกล่าวหาขอให้ผ่อนหนักเป็นเบาโดยรอการลงโทษหรือปรับแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก็บอกว่าไม่ได้ต้องแล้วแต่รูปคดีนางเพ็ญศรีไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาและถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดกับนางเพ็ญศรีว่าจะช่วยให้นางเพ็ญศรีได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ โดยบอกว่าไม่ทราบว่านายที่กรุงเทพยังอยู่หรือเปล่า แต่นางเพ็ญศรี ก็ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหามีว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์เรียกร้องผลประโยชน์เป็นเงินจากนางเพ็ญศรีเพื่อนำไปวิ่งเต้นคดีให้ได้รับการประกันตัวหรือเพื่อให้รอการลงโทษหรือไม่ จากการไต่สวนของศาลชั้นต้นก็มีแต่คำเบิกความของนายดาบตำรวจพยัพ ตั้งอั้น เท่านั้นที่ยืนยันว่าในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก นางเพ็ญศรีนั้น นางเพ็ญศรีร้องไห้เมื่อสอบถามก็ได้ความว่าได้เสียเงินวิ่งเต้นให้ผู้ถูกกล่าวหาไปเป็นแสนแล้ว แต่ก็ประกันตัวไม่ได้ทั้งยังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกด้วย ซึ่งเป็นเพียงคำบอกเล่า มิได้รู้เห็นว่ามีการเสียเงินให้ผู้ถูกกล่าวหาไปจริงหรือไม่ ส่วนนางเพ็ญศรีนั้นเพียงแต่เบิกความว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยไปเยี่ยมพร้อมกับนายอวยชัยและถามพยานว่ามีเงินหรือไม่ จะช่วยวิ่งเต้นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นให้ปล่อยชั่วคราวเพราะรู้จักกัน เป็นเพื่อนกับบุตรชาย พยานบอกว่าไม่มีเงินและไม่ปรากฏว่าพยานได้ให้เงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาไปเพื่อเป็นค่าวิ่งเต้นดังกล่าวแต่อย่างใดนายอวยชัยอดีตสามีนางเพ็ญศรีก็เบิกความว่าเมื่อผู้ถูกกล่าวหาทราบว่านางเพ็ญศรีซึ่งเป็นหลานถูกจับก็มาเยี่ยมพร้อมกับพยานและพูดว่าจะไปช่วยพูดกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นให้อาจได้รับการปล่อยชั่วคราว เพราะเคยเห็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นมาตั้งแต่เด็ก มีบ้านอยู่ใกล้กัน และรู้จักบิดาภริยาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นด้วย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ผู้ถูกกล่าวหาและพยานไปพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นที่บ้านพักผู้ถูกกล่าวหาถามผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นว่าหลานถูกจับจะขอให้ช่วยปล่อยชั่วคราวได้หรือไม่ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นปฏิเสธผู้ถูกกล่าวหาจึงถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอให้ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาโดยตัดสินรอการลงโทษและลงโทษปรับแทนจะได้หรือไม่แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตอบว่าไม่ได้ต้องแล้วแต่รูปคดีดังนี้จากคำเบิกความของนายอวยชัยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เรียกร้องผลประโยชน์เป็นเงินจากนางเพ็ญศรีเพื่อนำไปวิ่งเต้นให้ได้รับการประกันตัวหรือเพื่อให้รอการลงโทษแต่อย่างใดการที่ผู้ถูกกล่าวหาไปพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นที่บ้านพักเพื่อขอร้องให้ช่วยปล่อยชั่วคราวหรือรอการลงโทษนั้นก็เป็นการทำไปเพื่อต้องการช่วยเหลือนางเพ็ญศรีซึ่งเป็นหลานโดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้เสนอผลประโยชน์เป็นเงินแก่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแต่อย่างใด และเมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นปฏิเสธและแนะนำให้ไปปรึกษาทนายความผู้ถูกกล่าวหาก็กลับไปโดยดี ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กล่าวรับรองต่อนางเพ็ญศรีหรือนายอวยชัยว่าศาลชั้นต้นจะให้ปล่อยชั่วคราวหรือตัดสินรอการลงโทษให้แต่อย่างใดยิ่งไปกว่านั้นในชั้นฎีกานางเพ็ญศรียังได้ทำบันทึกลงวันที่19 พฤศจิกายน 2541 ด้วยลายมือของตนเองยืนยันว่านางเพ็ญศรีไม่เคยให้เงินแก่ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นคดีแต่อย่างใดผู้ถูกกล่าวหาได้ช่วยเหลือนางเพ็ญศรีโดยสุจริตใจเพราะเป็นญาติกันโดยมีศักดิ์ เป็นอาและด้วยความสงสารลูกของนางเพ็ญศรีเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหานั้นกระทำไปโดยสุจริตด้วยเจตนาที่จะช่วยเหลือนางเพ็ญศรีซึ่งเป็นญาติกันตามสมควรแก่กรณี ทั้งไม่ปรากฏว่าได้เรียกร้องหรือรับผลประโยชน์เป็นเงินตอบแทนแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1)ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

Share