แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีไว้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วแต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ แม้ในวันที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดี จำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์เสร็จไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าทนายความของจำเลยเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาในครั้งนั้นแต่อย่างไร ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยจึงยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนนคดี อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินจำนวน 9,350 บาท ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และ 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,500,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 1,250,000 บาท ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 300,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 150,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่มีโทษจำคุกในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 ท้ายคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความแล้วแต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ซึ่งระบุว่าศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาเวลา 9.30 นาฬิกา แม้ในวันเดียวกันจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาแต่ตามใบแต่งทนายความจำเลยที่เจ้าหน้าที่ศาลลงเวลารับก็เป็นเวลา 12.25 นาฬิกาแล้ว และตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีทนายความของจำเลยเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาในครั้งนั้นแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยแต่งทนายความเข้ามาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยจึงยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้จำเลยแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี