แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาขอให้สั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดจากจำเลย โดยอ้างว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกโจทก์นำยึดจะขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เป็นที่ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งได้มีประกาศห้ามทำการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในเขตส่วนกว้างของแนวทางหลวงหนึ่งพันเมตร โดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ หรือโดยประการอื่น ฯลฯ นั้น ถือว่า แม้ที่ดินจะตกอยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกาตามที่จำเลยอ้าง แต่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2482 มาตรา 57 ซึ่งบัญญัติให้นำมาตรา 46 มาใช้บังคับในกรณีนี้โดยอนุโลม ก็ได้บัญญัติโดยมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ย่อมจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ มิให้บังคับไว้เด็ดขาด และกรณีเช่นนี้ จำเลยก็ไม่มีสิทธิ์จะร้องขอให้งดการขาย เพราะเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ตกอยู่ในบังคับที่เจ้าหนี้มีสิทธิ์จะขอให้ยึดมาใช้หนี้ได้ ทั้งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดี
ย่อยาว
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ ๒ เพื่อใช้หนี้ตามคำพิพากษาและศาลได้สั่งให้ขายทอดตลาดแล้ว จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน และให้โจทก์จัดเอาจากทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ โดยเหตุผลว่า ทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ ๒ จำนองไว้ และเป็นทรัพย์ที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกา ซึ่งห้ามขายจำนองไว้
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน
ศาลชั้นต้นสอบจำเลยที่ ๒ ถึงทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ไม่อาจยืนยันได้ว่ามี โจทก์แถลงว่าไม่มี จึงมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ร่วมกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ โจทก์มีสิทธิ์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ ในเรื่องทรัพย์ติดจำนองก็อาจขายโดยภาระจำนองติดไปหรือขายโดยปลอดจำนองได้ ส่วนเรื่องการห้ามโอนไม่มีปัญหาในชั้นนี้ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้สั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดจากจำเลย โดยอ้างว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกโจทก์นำยึดจะขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เป็นที่ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินซึ่งได้มีประกาศห้ามทำการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในเขตส่วนกว้างของแนวทางหลวงหนึ่งพันเมตร โดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ หรือโดยประการอื่น ฯลฯ นั้น ถือว่า แม้ที่ดินจะตกอยู่ภายใต้พระราชกฤษฎีกาตามที่จำเลยอ้าง แต่ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๕๗ ซึ่งได้บัญญัติให้นำมาตรา ๔๖ มาใช้บังคับในกรณีนี้โดยอนุโลม ก็ได้บัญญัติโดยมีข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่แล้วก็ย่อมจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ มิได้บังคับไว้เด็ดขาด และกรณีเช่นนี้ จำเลยก็ไม่มีสิทธิ์จะร้องขอให้งดการขาย เพราะเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ตกอยู่ในบังคับที่เจ้าหนี้มีสิทธิจะขอให้ยึดมาใช้หนี้ได้ ทั้งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องดำเนินการบังคับคดี ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกามาในข้ออื่นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยจะมาร้องขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดนี้ไว้ได้
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.