คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 7 มีภูมิลำเนาแน่นอน จึงไม่มีกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายแก่จำเลยที่ 7ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งวันนัดแก่จำเลยที่ 7 โดยการประกาศหน้าศาลเพียงประการเดียวและไม่ได้สั่งให้ส่งหมายไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 ด้วย ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 7 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาแม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีอำนาจกระทำได้โดยมิต้องรอให้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อนเพราะศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก และนำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 196 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าจำเลยที่ 7 ได้รับหมายเรียกของศาลแล้วไม่มาตามกำหนดนัดตามมาตรา 196 วรรคสอง (3) ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจสั่งว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 7 ไปฝ่ายเดียวได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบโดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีและเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2)และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการรับผิดร่วมกันและแทนกันอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มูลหนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดจึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนหนึ่งคนใดรับผิดชดใช้เงินในมูลหนี้ร่วมที่มิอาจแบ่งแยกได้ให้แก่โจทก์เพียงใด จำเป็นที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทุกคนนำสืบให้ปรากฏในสำนวน หรือหากจำเลยคนใดไม่มาศาล ก็ต้องปรากฏเหตุโดยแจ้งชัดว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งให้ผู้นั้นขาดนัดพิจารณาได้โดยชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปโดยไม่รอฟังพยานหลักฐานแห่งการขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ 7ให้ชัดเจนเสียก่อนได้ไม่ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยถือว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบเริ่มตั้งแต่วันนัดสืบพยานโจทก์เป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 199,400,190.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 29 ต่อปี ของต้นเงิน 162,287,123.29 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง ซึ่งนำมาทบเข้ากับต้นเงินที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 29 ต่อปี นับแต่วันที่ค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีหนึ่งจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3446 ถึง 3449 ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้เงินจำนวน 162,287,123.29บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 160,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3446 ถึง 3449 ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ตั้งแต่ต้น หมายแจ้งวันเวลานัดให้จำเลยที่ 7 ทราบโดยชอบและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จสำนวนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ยกอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดฐานผิดสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน199,400,190.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 29 ต่อปี ของต้นเงิน162,287,123.29 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน หากไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบ ให้ศาลพิพากษายึดทรัพย์สินที่จำนองของจำเลยที่ 1ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้อง โดยเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก หมายเรียกสำเนาให้จำเลยทั้งเจ็ดและพิจารณาอย่างคดีมโนสาเร่ในวันที่ 4 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันนัดจำเลยทั้งเจ็ดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ปรากฏว่าผลการส่งหมายของจำเลยที่ 7 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยังไม่ส่งคืนมา ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ใหม่เป็นวันที่ 19 พฤษภาคม2540 และให้โจทก์ส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์แก่จำเลยที่ 7 อีกครั้งหนึ่ง โดยอนุญาตให้ปิดหมายได้ ทั้งมีคำสั่งให้ปิดประกาศวันเวลานัดให้จำเลยที่ 7 ทราบที่หน้าศาลด้วยครั้นถึงวันนัด ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มาศาลส่วนจำเลยที่ 7 ไม่มาศาล ทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แถลงร่วมกันว่าจำเลยทั้งเจ็ดประสงค์จะตกลงยอมความกับโจทก์ จึงขอเลื่อนคดีเพื่อตกลงกัน โดยทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 แถลงว่าสามารถติดต่อจำเลยที่ 7 มาทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้หากการเจรจาเป็นผลสำเร็จศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 27 มิถุนายน 2540 โดยให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 7 ทราบหน้าศาล ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 7ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 7 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ให้ตัดสินชี้ขาดคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 7 ไปฝ่ายเดียว

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากและมีคำสั่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้บังคับและออกหมายเรียกไปยังจำเลยที่ 7 เพื่อให้มาศาลและให้การตามที่ศาลกำหนดก็ตามแต่ถ้าตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 7 มีภูมิลำเนาแน่นอน ก็ย่อมไม่มีกรณีที่ไม่สามารถส่งหมายแก่จำเลยที่ 7 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 ได้ ด้วยเหตุนี้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้แจ้งนัดแก่จำเลยที่ 7 โดยการประกาศนัดหน้าศาลเพียงประการเดียวและไม่ได้สั่งให้ส่งหมายไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 ด้วย ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายปรากฏว่าในวันที่ 4 มีนาคม 2540 ซึ่งเป็นวันนัดให้จำเลยยื่นคำให้การและสืบพยานมีการส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ 7 ทราบโดยวิธีปิดหมายตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตไว้ แต่จำเลยที่ 7 ไม่มาศาลในวันนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 19 พฤษภาคม 2540 และให้แจ้งนัดแก่จำเลยที่ 7 โดยส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 หากไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ทั้งให้ประกาศหน้าศาลแจ้งนัดแก่จำเลยที่ 7 ด้วย ก็ได้ความว่ามีการส่งหมายให้จำเลยที่ 7 ทราบโดยการปิดหมายจึงต้องถือว่าการแจ้งนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2540 แก่จำเลยที่ 7ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 พฤษภาคม2540 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 7 ไม่มาศาล เช่นนี้หากศาลชั้นต้นจำเป็นต้องเลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ไปอีกเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2540 ศาลชั้นต้นก็ควรที่จะต้องจัดส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 7 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 อีกครั้งหนึ่งเพราะไม่ปรากฏหลักฐานใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 7 ได้ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 ให้จำเลยที่ 7ทราบหน้าศาลเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 7 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 7 ด้วย ดังนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 7 ทราบนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27มิถุนายน 2540 โดยชอบแล้วหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 7 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 วันที่ 27 มิถุนายน 2540 ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เหตุนี้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2540แม้ศาลชั้นต้นมีอำนาจกระทำได้โดยมิต้องรอให้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเสียก่อน เพราะศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก และนำบทบัญญัติว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 196 วรรคสอง ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าจำเลยที่ 7 ได้รับหมายเรียกของศาลแล้วไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 196 วรรคสอง(3) ศาลชั้นต้นก็ไม่อาจมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 7ขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 7 ไปฝ่ายเดียวได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยผิดหลง และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบโดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) และมาตรา 27 ประกอบด้วยมาตรา 246 นอกจากนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 7 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันของจำเลยที่ 1ขอรับผิดร่วมกันและแทนกันอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ดังนั้น มูลหนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดตามฟ้องโจทก์จึงเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยคนหนึ่งคนใดรับผิดชดใช้เงินในมูลหนี้ร่วมที่มิอาจแบ่งแยกได้ให้แก่โจทก์เพียงใด จำเป็นที่ศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทุกคนนำสืบให้ปรากฏในสำนวนหรือหากจำเลยคนใดไม่มาศาล ก็ต้องปรากฏเหตุโดยแจ้งชัดว่าศาลชั้นต้นอาจสั่งให้จำเลยผู้นั้นขาดนัดพิจารณาได้โดยชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปโดยไม่รอฟังหลักฐานแห่งการขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ 7 ให้ชัดเจนเสียก่อนได้ไม่ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้อย่างไรก็ดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2540 นั้นไม่ถูกต้องเพราะกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบเริ่มตั้งแต่วันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป แต่แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าวันที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบแตกต่างออกไปก็ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไปเพราะก่อนหน้านั้นจำเลยอื่นเพียงแต่ยื่นคำให้การไว้เท่านั้น ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ตั้งแต่ต้น หมายแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 7 ทราบโดยชอบและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนเสร็จสำนวนแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share