แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แม้การกระทำของ พ. นักสืบอิสระ จะมีลักษระเป็นการสุ่มซื้อโดยไม่ประสงค์จะได้โปรกแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีใบอนุญาตก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาพยานลักฐานมาดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยกระทำความผิด จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายแบบโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีมีได้
จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการได้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ผู้ซื้ออันเป็นการแถมให้เปล่าไม่คิดมูลค่า คงคิดราคาเฉพาะตัวเครื่อง โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้ขายหรือเสนอขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) คงมีความผิดตามมาตรา 31(3) เพราะเป็นการแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำละเมิดลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โดยร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย เผยแพร่ต่อสาธารณชนหรือแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าวแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไป โดยจำเลยทั้งสามรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันและเพื่อแสวงหากำไรทางการค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 30 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 31 และมาตรา 74 ป.อ. มาตรา 83 และมาตรา 91 กับจ่ายเงินค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งแก่โจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งหลบหนีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 30 (1), 31 (1) (3), 69 วรรคสอง, 70 วรรคสอง อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ความผิดฐานทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 160,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ160,000 บาท ฐานแจกจ่ายและเสนอขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ80,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 80,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 240,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 240,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับได้ไม่เกิน 1 ปี กับให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 76
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกา แผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของมลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในร้านค้าของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสัญชาติและอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ได้ว่าจ้างให้บริษัทไรท์ แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตรวจสอบตามร้านค้าที่ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ว่า มีการลักลอบขายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 เวลา 14.30 นาฬิกา นายฟิลิป พาสโค นักสืบอิสระในสังกัด บริษัทไรท์ แอสโซซิเอทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ไปติดต่อขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ เอเทค รุ่น เพรสทิจ 402 จำนวน 1 เครื่อง ในราคา 29,900 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากร้านค้าของจำเลยที่ 1 ได้ขอนัดหมายรับเครื่องคอมพิวเตอร์ในวันที่ 30 เดือนเดียวกัน เมื่อถึงกำหนดนัด นายฟิลิป พาสโค ไปที่ร้านของจำเลยที่ 1 พนักงานขายในร้านค้าของจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้แก่นายฟิลิป พาสโค โจทก์ได้ว่าจ้างผู้ชำนาญการพิเศษด้านคอมพิวเตอร์มาตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว พบว่ามีการทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามฟ้องของโจทก์ติดตั้งในฮาร์ดดิสของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น
เห็นว่า นายสุรวุฒิผู้ชำนาญการพิเศษด้านคอมพิวเตอร์พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าในการตรวจสอบการติดตั้งไดเรคทอรี่ (Directory) ในส่วนของการเก็บแฟ้มข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ พยานตรวจสอบลงไปในระดับลึก พบว่ามีแฟ้มข้อมูลหนึ่งซึ่งมีการสร้างแฟ้มข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 เป็นแฟ้มข้อมูลที่ใช้สำหรับระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 98 ได้ติดตั้งและเริ่มทำงานครั้งแรกเสร็จสิ้นแล้ว โปรแกรมดังกล่าวจะสร้างแฟ้มข้อมูลสำคัญประจำระบบ 2 แฟ้ม คือ แฟ้มข้อมูล Autoexec.BAT และ Config.SYS วันเวลาของแฟ้มข้อมูลที่สร้างคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2543 เวลา 14 นาฬิกา และวันที่ 14 พฤษภาคม 2543 เวลา 14.01 นาฬิกา ตามลำดับ แสดงว่าโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 98 ได้ถูกติดตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2543 ก่อนเกิดเหตุสุ่มซื้อคดีนี้ประมาณ 10 วัน ส่วนโปรแกรมไมโครซอฟท์ 97 แม้นายสุรวุฒิจะไม่ได้ตรวจสอบวันเวลาติดตั้ง แต่นายสรวุฒิก็ให้ความเห็นว่า เชื่อได้ว่าจะต้องติดตั้งในวันเดียวกันหรือภายหลังจากนั้น เนื่องจากโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 97 เป็นโปรแกรมประยุกต์การใช้งานซึ่งจะต้องติดตั้งภายหลังจากมีการติดตั้งโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 98 ซึ่งเป็นโปรแกรมระบบปฏิบัติการแล้ว ซึ่งมีเหตุผลให้รับฟังได้ และได้ความจากคำเบิกความของนายฟิลิป พาสโค พยานโจทก์ประกอบบันทึกการถอดเทปบันทึกเสียงคำสนทนาระหว่างนายฟิลิป พาสโค กับพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 3 กับพวกซึ่งเป็นพนักงานขายของจำเลยที่ 1 เสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ตามฟ้องให้นายฟิลิป พาสโค โดยแถมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ไม่มีใบอนุญาตติดตั้งไปพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และแจ้งว่านายฟิลิป พาสโค สามารถรอรับเครื่องคอมพิวเตอร์ไปได้เลย ไม่ต้องนัดหมายมารับในวันหลัง ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์พร้อมที่จะใช้คัดลอกหรือทำซ้ำติดตั้งลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ อยู่ในวันนั้นแล้ว พนักงานขายของจำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งแก่นายฟิลิป พาสโค ไปเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อช่างเทคนิคของจำเลยที่ 1 จะได้ทำการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วส่งมอบให้แก่นายฟิลิป พาสโค ในวันนั้น เพราะได้ความจากคำเบิกความของนายรุทรผู้รับมอบอำนาจโจทก์และพยานโจทก์ว่า ในทางปฏิบัติการขายเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องมีลูกค้ามาติดต่อสั่งซื้อก่อน จากนั้นร้านค้าจึงจะติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ไว้ก่อนที่จะมีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อ เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่พนักงานของจำเลยที่ 1 เสนอติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ขายให้แก่ลูกค้ารายนายฟิลิป พาสโค โดยไม่คิดมูลค่าหรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแถมไปกับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยแล้ว จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นการกระทำในทางปกติธุระของการค้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อชักจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าจากร้านค้าของตน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงนั่นเอง จากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ก่อนแล้ว แม้การกระทำของนายฟิลิป พาสโค นักสืบอิสระ จะมีลักษณะเป็นการสุ่มซื้อโดยไม่ประสงค์จะได้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีใบอนุญาตเนื่องจากจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 20,000 บาท ก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อที่จะแสวงหาพยานหลักฐานมาดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการชักจูงใจหรือก่อให้ฝ่ายจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ขึ้นมา เพราะคดีนี้ฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำการอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และมาตรา 28 (2) สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301/2543 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างมาในอุทธรณ์นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โดยคดีดังกล่าวโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ศาลเห็นได้ว่า ฝ่ายจำเลยทำซ้ำและแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แก่ผู้อื่นโดยที่ฝ่ายจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) มาด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างเทศยังไม่เห็นพ้องด้วย เพราะตามทางพิจารณาได้ความว่าการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตามพยานวัตถุหมาย จ.11 ให้นายฟิลิป พาสโค นั้น เป็นการให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า แต่คิดราคาเฉพาะตัวเครื่อง โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้ขายหรือเสนอขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ไม่มีใบอนุญาตให้แก่นายฟิลิป พาสโค แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) ด้วย คงมีความผิดตาม มาตรา 31 (3) ซึ่งเป็นการแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อการค้าเท่านั้น และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศกลางปรับบทบังคับค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตาม ป.อ. มาตรา 30 มาด้วยนั้น ก็ไม่ถูกต้อง และคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับพวกกระทำความผิด แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 83 มาด้วย ก็ไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย นอกจากนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เพียง 2 โปรแกรมหลักโดยแถมไปพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวที่นายฟิลิป พาสโค มาซื้อ เป็นพฤติการณ์ที่ไม่ร้ายแรงนัก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ปรับ 160,000 บาท ฐานร่วมกันแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ปรับ 80,000 บาท และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 1 ปี และปรับ 160,000 บาท ฐานร่วมกันแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 6 เดือน และปรับ 80,000 บาท มานั้น จึงหนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำหรับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) และให้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 83 ด้วย กับให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า ปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการค้า จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันแจกจ่ายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า จำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 1 เป็นปรับ 150,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 9 เดือน และปรับ 150,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในห้าแล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 คงปรับ 120,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 7 เดือน 6 วัน และปรับ 120,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามเดิม และเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น นิติบุคคลนั้น หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.