คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7316/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสอบสวนทางวินัยเป็นคนละกรณีกับการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง เพราะการสอบสวนทางวินัยและการรายงานผลการสอบสวนมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องทางวินัย มิได้รายงานว่าผู้ใดจะต้อง รับผิดในทางแพ่งบ้าง นอกจากนี้บุคคลที่จะต้องรับโทษทางวินัยอาจจะไม่ใช่บุคคลที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งเสมอไป กรณีนี้ต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ เลขาธิการสำนักงานโจทก์ ลงชื่อรับทราบผลการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งไม่ใช่วันที่รับทราบผลการสอบสวนทางวินัย เมื่อโจทก์ทราบตัวผู้รับผิดในทางแพ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่เกินหนึ่งปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดมีหน้าที่บังคับบัญชา ควบคุมดูแลและรับผิดชอบใน การปฏิบัติราชการของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนั้น ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการการประถมศึกษา พ.ศ. 2523 มาตรา 21 ไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัดให้ผู้มีสิทธิรับเงินนำเงินฝากเข้าบัญชีของตนเอง ไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีของสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดตามระเบียบ แล้วได้ถอนเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย
จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี มีหน้าที่ทำบัญชีเงินสดและบัญชีแยกประเภท โดยมีจำเลยที่ 3 เป็น ผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 5 ลงบัญชีว่ามีการจ่ายเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัดให้ผู้มีสิทธิแล้วโดยมิได้ตรวจดูหลักฐานการจ่ายเงินให้ถูกต้อง โดยลงบัญชีไปตามที่จำเลยที่ 3 บอกทั้งที่รู้ว่าเป็นการผิดระเบียบ และมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปทราบเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 กับพวก เบิกเงินจากคลังจังหวัดแล้วนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 5 มิได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 3 และมิได้รับประโยชน์จากการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายเพียง 1 ใน 10 ส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 6,419,783.98 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,591,726 บาท อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,591,726 บาท พร้อมดอกเบี้ย… และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 120,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกา พิจารณาแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีมีการกล่าวหาจำเลยทั้งห้ากับพวกกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้เลขาธิการสำนักงานโจทก์ทราบ และมีการรายงานผลการสอบสวน เพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งให้เลขาธิการสำนักงานโจทก์ทราบต่อมา เห็นว่า การสอบสวนทางวินัยเป็นคนละกรณีกับการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง เพราะการสอบสวนทางวินัยและการรายงานผลการสอบสวนมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องทางวินัยมิได้รายงานว่าผู้ใดรับผิดในทางแพ่งบ้าง นอกจากนี้บุคคลที่จะต้องรับโทษทางวินัยอาจจะไม่ใช่บุคคลที่จะต้องรับผิดในทางแพ่งเสมอไป กรณีนี้ต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่เลขาธิการสำนักงานโจทก์ลงชื่อรับทราบผลการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่ง คืนวันที่ 13 มกราคม 2531 นับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 กันยายน 2531 ยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดหากจะต้องรับผิดก็ควรรับผิดไม่เกิน 30,000 บาท เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดสกลนคร มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คณะกรรมการการประถมศึกษา พ.ศ. 2523 มาตรา 21 คือ บังคับบัญชา ควบคุมและดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสกลนคร และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน และในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จำเลยที่ 1 จะต้องควบคุมและดูแลโดยทั่วไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ด้วย คือ การจ่ายเงินจะต้องมีหลักฐานการจ่าย และจะต้องบันทึกการจ่ายเงินนั้นไว้ในบัญชีเงินสดหรือบัญชีเงินฝากธนาคารแล้ว แต่กรณีในวันจ่ายเงินนั้น บัญชีเงินฝากธนาคารในกรณีนี้ย่อมหมายถึงบัญชีเงินฝากของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสกลนครที่ฝาก ณ ธนาคารที่กำหนด มิใช่บัญชีเงินฝากของข้าราชการหรือบุคคลในสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสกลนคร เมื่อฟังได้ความจากพยานโจทก์ว่าเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้รับเหมาก่อสร้างว่าจะได้รับเงินเป็นเช็คส่วนตัวของจำเลยที่ 3 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ปฏิบัติเช่นนี้มานานแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการจนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ 3 นำเงินของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสกลนครไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ถอนเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามจำนวนที่จำเลยที่ 3 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ คือ 5,591,726 บาท หาใช่รับผิดเพียงบางส่วนดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เห็นว่าโจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ 5 จงใจร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์คงนำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี มีหน้าที่และความรับผิดชอบทำบัญชีเงินสดและบัญชีแยกประเภท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ลงบัญชีว่ามีการจ่ายเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดสกลนครตามฎีกาชำระเงินตรงทั้ง 12 ฉบับ ให้แก่ผู้รับจ้างหรือผู้ขายแล้วโดยมิได้ตรวจดูหลักฐานการจ่ายเงินให้ถูกต้องตามระเบียบของราชการ จำเลยที่ 5 ลงบัญชีไปตามที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาบอกทั้งที่รู้ว่าเป็นการผิดระเบียบ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จำเลยที่ 3 กับพวกเบิกเงินจากคลังจังหวัดสกลนครตามฎีกาชำระเงินตรงฉบับที่ 2 ถึงที่ 12 แล้วนำเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นในเงินจำนวนตามฎีกาชำระเงินตรงฉบับที่ 2 ถึงที่ 12 อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 5 เป็นเพียงเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ลงบัญชีผิดระเบียบเพราะไม่กล้าขอหลักฐานการจ่ายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปทราบ จำเลยที่ 5 มิได้ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 3 และมิได้รับประโยชน์จากการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหาย 1 ใน 10 ส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,323,766 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินตามฎีกาชำระเงินตรงฉบับที่ 2 ถึงที่ 12 ตามอัตราและวันที่กำหนดในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยร่วมรับผิด 1 ใน 10 ส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 5 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยให้เป็นพับ

Share