แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องว่าวิ่งราวทรัพย์ ไม่ปรากฏเหตุฉกรรจ์ เป็นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ได้ความว่าลักทรัพย์ลงโทษตาม มาตรา 335(7) ลักทรัพย์โดยมีอาวุธไม่ได้ ทั้ง มาตรา335(7)มีโทษหนักกว่า มาตรา 336 วรรคแรก ศาลลงโทษตาม มาตรา334
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำผิดหลายกระทงคือ ก. มีอาวุธปืนและมีดพยายามฆ่า จ. และ ข. เมื่อทำร้าย จ. แล้วได้ร่วมกันลักปืนของ จ. ฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288,336 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 33 ปี 4 เดือน ตามมาตรา 288,80, 83 กระทงหนึ่ง จำคุก 3 ปี ตามมาตรา 336 อีกกระทงหนึ่ง ริบของกลางกับให้ใช้ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เฉพาะความผิดตาม มาตรา 336 จำเลยไม่ได้เจตนาร่วมกันกระทำ จำเลยที่ 1 ผู้เดียวยิง เอาปืน จ. ไป เมื่อยิง จ. แล้วจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 335(7) นอกจากนี้บังคับตามศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 6 นาฬิกานายจำแลง ภาสกนธ์ ผู้เสียหาย และนางสมคิด ภาสกนธ์ ภริยาผู้เสียหายกำลังเดินไปตามถนนสายเงิน ซึ่งแยกจากถนนลานสกาจะไปกรีดยางที่สวนยางของผู้เสียหาย เมื่อไปห่างบ้านที่อยู่ประมาณ 3 เส้น ผู้เสียหาย นางสมคิด ภาสกนธ์พบจำเลยที่ 1 ถือปืนลูกซองสั้น จำเลยที่ 2 ถือขวานยืนอยู่ข้างถนน ผู้เสียหายถามจำเลยที่ 1 ว่าไปไหน จำเลยที่ 1 ตอบว่าไปเที่ยว แล้วผู้เสียหายเดินผ่านไปจำเลยทั้งสองเดินตามหลังผู้เสียหายในระยะห่างประมาณ 1 ศอก โดยเดินอยู่ข้างหน้านางสมคิด ภาสกนธ์ ผู้เสียหายหลบเข้าข้างทางด้านขวามือ จำเลยที่ 1บอกให้หยุดผู้เสียหายหันไปดู จำเลยที่ 1 จ้องปืนตรงหน้าอกผู้เสียหาย ผู้เสียหายปัดปืนนั้นก็ลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด ผู้เสียหายชักปืนสั้นจากเอวจ้องไปที่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แย่งปืนจากผู้เสียหาย ปืนของผู้เสียหายลั่นขึ้น 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกผู้ใด จำเลยที่ 1 ร้องเรียกให้จำเลยที่ 2 ช่วยจำเลยที่ 2 ซึ่งยืนคุมนางสมคิด ภาสกนธ์อยู่ ได้วิ่งไปใช้ขวานฟันถูกหน้าผู้เสียหาย 3 ครั้ง ปืนหลุดจากมือผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 แย่งปืนได้ก็ใช้จ่อยิงตรงริมฝีปากด้านซ้าย 1 นัด กระสุนทะลุแก้มขวา ฟันข้างบนข้างล่างหักหมด ผู้เสียหายล้มลงหมดสติ จำเลยที่ 1 เอาปืนของผู้เสียหายหนีไป พร้อมกับจำเลยที่ 2” ฯลฯ
“ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในกระทงความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์อย่างหนึ่งอย่างใดจึงเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 336 วรรคแรก เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ก็ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จะลงโทษตามมาตรา 335(7) ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวอ้างมาตรานี้มาในฟ้องไม่ได้ทั้งตามมาตรา 335(7) ก็มีโทษหนักกว่ามาตรา 336 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 335(7) จึงเป็นการเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2130/2514 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ เรือโทอำพลอยู่ยงสินธ์ จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 กำหนดโทษในกระทงความผิดนี้จำคุก1 ปี ไม่ริบมีดตัดยางของกลาง ให้คืนเจ้าของไป นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”