คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์หรือชำระเงินต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล แต่ผู้ร้องไม่มีศาลตามวันเวลาที่ศาลนัดไต่สวนนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องถือว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 197 วรรคสอง
เมื่อผู้ร้องขาดนัดพิจารณาและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลสั่งตามรูปคดี ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 นั้น แม้ผู้ร้องจะเข้าใจเวลานัดของศาลผิดไปโดยสุจริต ก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้คงทำได้เพียงประการเดียว คือร้องเริ่มต้นคดีใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 74/2512)
กรณีผู้ร้องขาดนัดพิจารณาซึ่งศาลสั่งจำหน่ายคดี กฎหมายห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ ย่อมไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าจงใจขาดนัดหรือไม่

ย่อยาว

กรณีเนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยผู้ล้มละลายมีหนังสือแจ้งว่า ผู้ร้องเป็นหนี้จะต้องส่งมอบรถยนต์ทะเบียน ก.ท.ด. ๒๗๘๘ ให้แก่จำเลย จึงให้ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวหรือชำระเงิน ๕๗,๑๑๐ บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องคัดค้านว่าผู้ร้องได้ซื้อรถคันพิพาทจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตจำกัด ผู้เป็นเจ้าของโดยตรงและได้ชำระราคารับมอบโอนมาเป็นของผู้ร้องโดยชอบแล้ว ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๓ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ถึงวันเวลานัดผู้ร้องและทนายไม่มาศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลสั่งตามรูปคดี ศาลสั่งว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑
ในวันเดียวกันนั้นตอนบ่าย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งไต่สวนดำเนินการสืบพยานผู้ร้องต่อไป เพราะผู้ร้องมิได้มีเจตนาละทิ้งคดีโดยทนายผู้ร้องเข้าใจเวลานัดผิดไป ว่าเป็นเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา จึงได้มาศาลตอนบ่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเวลานัดของศาลผิดไปเป็นความเข้าใจผิดของผู้ร้องเอง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งของศาลได้ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
๑. ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลล่างทั้งสองนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ มาปรับใช้กับการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องนั้นเป็นการไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงของคดีฟังได้เป็นยุติแล้วว่า ผู้ร้องไม่มาศาลในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๓ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ตามที่ศาลนัดซึ่งผู้ร้องทราบโดยชอบแล้ว ทั้งมิได้ขอเลื่อนหรือแจ้งเหตุที่ไม่มาศาลทราบก่อน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ ชอบที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๗ วรรค ๒ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลสั่งตามรูปคดี ศาลสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๑ ซึ่งกฎหมายมาตรงนี้ห้ามมิให้ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่ แม้ผู้ร้องเข้าใจเวลานัดของศาลผิดไปโดยสุจริต ก็ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้ คงทำได้เพียงประการเดียวคือร้องเริ่มต้นคดีใหม่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๙ รูปเรื่องเช่นนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้แล้วตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔/๒๕๑๒ ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยชัย โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดเซ่งฮงพาณิชย์ กับพวก จำเลยนายยู่เคียงหรือยู่เคี้ยง แซ่เล้า ผู้ร้อง
๒. ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องไม่ได้เจตนาจงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ศาลไต่สวนคำร้องลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๑๓ นั้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีของคดีนี้กฎหมายห้ามมิให้ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ ฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าจงใจขาดนัดหรือไม่ เพราะตามกฎหมายผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ การไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่าจงใจขาดนัดหรือไม่ เพราะตามกฎหมายผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาใหม่ การไต่สวนคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของผู้ร้องแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share