คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ซื้อทรัพย์มีความประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองจริง และเป็น ผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองรายนี้ได้ในราคาสูงสุด แต่มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนองหลายรายการทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สับสนโดยนำราคาที่จะต้องเข้าประมูลในคดีอื่นมาประมูลซื้อในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในราคาอันเป็นคุณสมบัติของทรัพย์ แต่ความสำคัญผิดของผู้ซื้อทรัพย์เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการแสดงเจตนาเข้าประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่ตรวจสอบราคาให้ถูกต้อง ผู้ซื้อทรัพย์จะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิก การขายทอดตลาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 96,829.27บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 81,412.06บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1984 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ตามคำบังคับของศาลชั้นต้น โจทก์จึงยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาด ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ในราคา 100,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้

วันที่ 29 มกราคม 2542 โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้อง ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองคดีนี้ในราคาเพียง 60,000 บาท แต่ในวันดังกล่าวมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองหลายรายทำให้ผู้ซื้อทรัพย์หลงพลาดและสับสน จึงนำราคาที่ต้องเข้าประมูลซื้อทรัพย์ในคดีอื่นมาประมูลซื้อทรัพย์ในคดีนี้แทน

เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อศาลชั้นต้นว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีทุกประการผู้ซื้อทรัพย์ได้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 100,000 บาท ซึ่งเท่ากับราคาประเมินในขณะยึดทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ประกอบกับไม่มีผู้ใดคัดค้าน จึงได้เคาะไม้ขายไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ซื้อทรัพย์มิได้เข้าประมูลซื้อทรัพย์โดยผิดพลาดสับสน ประกอบกับมูลเหตุที่ขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดไม่ใช่การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิกการขายทอดตลาด ให้ยกคำขอ

ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้ประมูลซื้อทรัพย์ในราคาที่สูงไม่สมเหตุผลแต่อย่างใด และที่ผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าได้ประมูลซื้อทรัพย์ในราคา 100,000 บาท เพราะหลงพลาดและสับสน ความจริงผู้ซื้อทรัพย์จะซื้อในราคา 60,000 บาท นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นความผิดของผู้ซื้อทรัพย์เอง เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนเร้นอยู่ในใจของผู้ซื้อทรัพย์ว่าจะซื้อทรัพย์ดังกล่าวในราคา 60,000 บาท แต่อย่างใด เจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่ได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์โดยไม่สุจริตและฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิกการขายทอดตลาด พิพากษายืน

ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า “มีเหตุสมควร” ที่จะยกเลิกการทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้หรือไม่ เห็นว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยอมรับมาในคำแถลงฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2542 ของผู้ซื้อทรัพย์ว่า ในวันขายทอดตลาดผู้ซื้อทรัพย์มีความประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองในคดีนี้จริง และเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองรายนี้ได้ในราคาสูงสุด 100,000 บาท เพียงแต่ผู้ซื้อทรัพย์อ้างมาในคำแถลงว่าผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองคดีนี้ในราคา 60,000 บาท แต่เนื่องจากวันดังกล่าวมีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนองหลายรายการทำให้ผู้ซื้อทรัพย์หลงพลาดและสับสนโดยนำราคาที่จะต้องเข้าประมูลในคดีอื่นซึ่งเลื่อนการขายออกไปมาประมูลซื้อในคดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำแถลงของผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในราคาอันเป็นคุณสมบัติของทรัพย์จำนองคดีนี้ แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ความสำคัญผิดของผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ซื้อทรัพย์ในการแสดงเจตนาเข้าประมูลซื้อทรัพย์จำนองรายนี้ โดยไม่ตรวจสอบราคาให้ถูกต้อง ผู้ซื้อทรัพย์จะถือเอาความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ ตามที่ผู้ซื้อทรัพย์ขอได้ ปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ไม่ต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่อาจมีผลให้เปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษานี้ได้

พิพากษายืน

Share