คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่1ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่13พฤศจิกายน2535การที่ด.ผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ทราบวันขายทอดตลาดแต่ไม่มาดูแลการขายต้องถือว่าผู้ร้องได้ทราบถึงการขายทอดตลาดในวันที่13พฤศจิกายน2535ดังกล่าวด้วยผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเมื่อวันที่3ธันวาคม2535จึงเกินสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบถึงการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่1ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา146

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1895 และ 1896ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ประมูลซื้อในราคา1,100,000 บาท เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ผู้ร้องได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวคือผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ดำเนินการขายทอดตลาดในเวลาที่ประกาศกำหนดไว้ และไม่ได้ประกาศโฆษณาการขายทอดตลาดณ สถานที่ขายโดยเปิดเผย ผู้แทนผู้ร้องไปรอดูเพื่อนำการขายทอดตลาดเวลาช่วงเช้าของวันดังกล่าว แต่ไม่พบผู้คัดค้านที่ 1 จึงเข้าใจว่าไม่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องเพิ่งทราบในวันยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปแล้วในวันที่13 พฤศจิกายน 2535 ในราคา 1,100,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงและราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ประเมินไว้ขณะยึดทำให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้น้อยกว่าที่ควรจะได้ ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและดำเนินการขายทอดตลาดใหม่
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านทำนองเดียวกันว่าก่อนขายทอดตลาดผู้คัดค้านที่ 1 ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบแล้วถือว่าผู้ร้องทราบว่ามีการขายทอดตลาดในวันที่13 พฤศจิกายน 2535 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 3 ธันวาคม 2535จึงเกินกำหนด 8 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1895 และ 1896 ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิจังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน และให้ขายทอดตลาดใหม่
ผู้คัดค้าน ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้คัดค้าน ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทโฉนดที่ 1895 และ 1896 ตำบลกุดตุ้มอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ถูกยึดไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่188/2530 ของศาลชั้นต้น โดยผู้ร้องเป็นโจทก์ และจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นจำเลย ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาให้ล้มละลายคดีนี้และได้มีการโอนการยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาอยู่ในอำนาจของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้เสนอราคาสูงสุดในราคา 1,100,000 บาท เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดต่อศาลภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลล้มละลายเจ้าหนี้ หรือบุคคลใดได้รับความเสียหาย โดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยืนตาม กลับหรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้ หรือบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านต่อศาลภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันทราบถึงการกระทำดังกล่าว มิฉะนั้นย่อมหมดสิทธิยื่นคำร้อง คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1ขาดทอดตลาดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535เกินกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันขายทอดตลาด โดยผู้ร้องอ้างว่าเพิ่งทราบว่ามีการขายทอดตลาดในวันที่ยื่นคำร้องนั้นเอง จึงมีปัญหาว่าผู้ร้องได้ทราบการขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อใดได้ความจากคำเบิกความของนายดนัย สมาโนชย์ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องว่าได้ทราบว่าที่ดินพิพาทผู้คัดค้านที่ 1 ประกาศขายทอดตลาดครั้งสุดท้ายวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จึงมอบหมายให้นายพยนต์ ธีระสุต พนักงานของผู้ร้องไปดูแลการขายทอดตลาดครั้งนี้ นายพยนต์ได้แจ้งให้ทราบว่า ในวันดังกล่าวไม่มีการขายที่ดินพิพาทตามที่ประกาศไว้ ต่อมาวันที่ 3 ธันวาคม 2535นายมาโนชบุตรจำเลยที่ 2 มาสอบถามนายดนัยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า ได้ขายไปแล้วหรือไม่เพราะมีผู้ไปเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 นายดนัยจึงให้นายพยนต์ไปตรวจสอบที่ศาลชั้นต้นจึงทราบว่าที่ดินพิพาทได้มีการขายทอดตลาดไปแล้วเมื่อวันที่13 พฤศจิกายน 2535 จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันนั้น โดยมีนายพยนต์มาเบิกความสนับสนุนว่า พยานได้มาที่ศาลชั้นต้นเวลา9 นาฬิกา ไม่พบผู้คัดค้านที่ 1 ได้สอบถามเจ้าพนักงานศาลหลายคนแต่ไม่มีผู้ใดเห็นผู้คัดค้านที่ 1 พยานจึงกลับไปเมื่อเวลาประมาณ11.40 นาฬิกา และรายงานให้นายดนัยทราบ เห็นว่านายดนัยผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ทราบประกาศของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าจะมีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในวันที่13 พฤศจิกายน 2535 เวลา 9 นาฬิกา เป็นอย่างดีแล้ว จึงได้มอบหมายให้นายพยนต์พนักงานของผู้ร้องมาดูแลการขายทอดตลาดดังนั้น หากนายพยนต์ได้มาที่ศาลจริงในวันดังกล่าวก็ต้องทราบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในวันดังกล่าว ในการขายทอดตลาดทรัพย์นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องทำรายงานการขายทอดตลาดและเมื่อขายแล้วก็ต้องรายงานให้ศาลทราบอีก นายดำรงศักดิ์ พรหมบุ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ดำเนินการขายทอดตลาดเป็นเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติราชการตามหน้าที่จึงไม่มีเหตุผลที่จะทำรายงานเท็จต่อศาล เพราะเป็นความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา ดังนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันดังกล่าวนายดำรงศักดิ์เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ซื้อได้ดังที่ผู้คัดค้านที่ 2นำสืบ การที่นายดนัยผู้รับมอบอำนาจของผู้ร้องได้ทราบวันขายทอดตลาด แต่ไม่มาดูแลการขายต้องถือว่าผู้ร้องได้ทราบถึงการขายทอดตลาดในวันดังกล่าวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้ทราบถึงการขายทอดตลาดในวันที่13 พฤศจิกายน 2535 แล้วผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2535 จึงเกินสิบสี่วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบถึงการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 146
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share